ลุ้นข้อสรุปตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจากหญ้าเนเปียร์ 10 แห่ง มูลค่าลงทุนรวม 1 พันล้านบาท พฤษภาคมนี้ หลังกระทรวงเกษตรฯ กำหนดพื้นที่โซนนิ่งปลูกหญ้าได้แล้ว ยันเอกชนสนใจเพียบมีทั้งทำโรงไฟฟ้าและอัดเป็นก๊าซซีบีจี วางเป้า 10 ปี ผลิตไฟฟ้าได้ 1 หมื่นเมกะวัตต์ มีเงินลงทุน1 ล้านล้านบาท
นายอำนวย ทองสถิต อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้าในโครงการวิสาหกิจชุมชนพลังงานสี เขียวจากพืชพลังงานว่า ภายหลังที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาโครงการดังกล่าวแล้ว โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปดำเนินการจัดทำโซนนิ่งการปลูกหญ้าเนเปียร์หรือหญ้าเลี้ยงช้างใน3พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่แล้งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตต่ำ เพื่อนำมาคัดเลือกพื้นที่นำร่องในการปลูกหญ้าเนเปียร์และการตั้งโรงไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้า ที่คาดว่าจะสรุปพื้นที่ได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้
“เบื้องต้นได้มีการกำหนดพื้นที่นำร่องปลูกหญ้าเนเปียร์ใน 10 ชุมชน ใช้พื้นที่ปลูกหญ้าชุมชนละ 1 พันไร่ เพื่อนำมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ จำนวน 10 แห่ง หรือผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ จากที่มีเป้าหมายในช่วง 10 ปี(2556-2565) จะผลิตไฟฟ้าได้ 1 หมื่นเมกะวัตต์ ที่จะต้องใช้พื้นที่ในการปลูกหญ้าเนเปียร์ถึง 10 ล้านไร่”
อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำโครงการดังกล่าวไม่ได้กำหนดตายตัวว่าหญ้าเนเปียร์ที่ปลูก จะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่จะพิจารณาว่า พื้นที่ไหนมีความเหมาะสมในการนำก๊าซชีวภาพไปใช้ เนื่องจากบางพื้นที่ไม่มีสายส่งรองรับการรับซื้อไฟฟ้า ก็จะตั้งโรงไฟฟ้าไม่ได้ แต่จะสามารถนำก๊าซชีวภาพมาอัดในรูปก๊าซซีบีจี ส่งขายให้กับบริษท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพื่อนำไปใช้ในรถยนต์ได้ ซึ่งขณะนี้มีเอกชนแสดงความสนใจเข้ามามากที่จะตั้งโรงไฟฟ้าและผลิตเป็นก๊าซซี บีจี ระหว่างนี้กรมกำลังพิจารณาเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ หากไม่มีข้อผิดพลาด คาดว่าทั้ง 10 แห่ง น่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2557
ส่วนโครงการนำร่องนั้นกรมฯได้รับอนุมัติเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการ อนุรักษ์พลังงาน 300 ล้านบาท เพื่อมาสนับสนุนภาคเอกชนประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อโครงการ จากที่ต้องใช้เงินลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าประมาณ 100 ล้านบาทต่อแห่ง ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ยืนยันว่าโครงการนี้จะไม่มีการเข้าไปแย่งพื้นที่ปลูกพืชอาหาร จึงต้องมีการจัดทำโซนนิ่งการปลูกหญ้าเนเปียร์ขึ้นมา เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการนี้ หากสามารถส่งเสริมให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในระยะเวลา 10 ปี จะทำให้เกษตรกรมีกำไรจากการปลูกพืชพลังงานอย่างน้อย 3.5 บาทต่อไร่ต่อปี สูงกว่าการปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง อีกทั้งไม่มีความผันผวนด้านราคา โดยประเมินว่าผลประโยชน์จะตกกับเกษตรกรคิดเป็นมูลค่ารวม 7 แสนล้านบาท
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม จะมีเงินลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท กรณีที่นำก๊าซชีวภาพไปผลิตเป็นไฟฟ้าได้ประมาณ 1.5 ล้านล้านหน่วย สร้างรายได้ประมาณ 6.8 ล้านล้านบาท เนื่องจากโครงการนี้จะได้รับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff ในอัตรา 4.50 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี ตลอดอายุโครงการ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,839
วันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
#หลากมิติ