ทดสอบสมรรถภาพทางกาย ตอนที่ 1
สมรรถภาพทางกาย (Physical Fitness) หมายถึง ลักษณะสภาพของร่างกายที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง อดทนต่อการปฏิบัติงานในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันได้มีการรณรงค์เน้นความสำคัญของการฝึกสมรรถภาพทางกายกันมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ปี 1964 ที่ได้มีการก่อตั้ง คณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน ทดสอบสมรรถภาพทางกายขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงโตเกียว โดยมีชื่อเรียกว่า the International Committee for the Standardization of Physical Fitness Tests (ICSPFT) นำทีมโดยProf. Leonard A. Larson จากประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งทุ่มเทอุทิศเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต ให้กับงานวิจัยเกี่ยวกับเวชศาสตร์การกีฬาและห้องปฎิบัติการทดสอบประเมินสมรรถภาพทางกาย จนกระทั่งสามารถดำเนินการจัดทำ ตีพิมพ์คู่มือทดสอบสมรรถภาพทางกายขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1974
แบบทดสอบสมรรถภาพทางกายระหว่างประเทศ (ICSPFT) ประกอบด้วยข้อทดสอบ 8 ข้อดังต่อไปนี้
1. วิ่งเร็ว 50 เมตร
2. ยืนกระโดดไกล
3. แรงบีบมือที่ถนัด
4. ลุก – นั่ง 30 วินาที
5. ดึงข้อ
6. วิ่งเก็บของ
7. งอตัวข้างหน้า
8. วิ่งระยะไกล
ข้อทดสอบเหล่านี้ใช้กับบุคคลชายหญิง อายุระหว่าง 6 – 32 ปี ผู้รับการทดสอบต้องมีสุขภาพดี ให้ความร่วมมือ และตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้แนะนำให้ผู้รับการทดสอบแต่งกายให้เหมาะสม ใช้กางเกงกีฬาขาสั้น เสื้อยืดแขนสั้น หรือเสื้อกล้าม สวมรองเท้าผ้าใบ หรือเท้าเปล่า และห้ามสวมรองเท้าตะปู
อย่างไรก็ตามสำหรับการทดสอบสมรรถภาพทางกาย ควรแบ่งการทดสอบเป็น 2 วัน หรือวันเดียว 2 ระยะ ในตอนเช้า และตอนบ่าย ถ้าแบ่งเป็น 2 วัน วันแรกทำการทดสอบรายการที่ 1, 2, 8, วันที่ 2 ทำการทดสอบรายการที่ 3, 4, 5, 6, และ 7 แต่ถ้าเป็นการทดสอบวันเดียวจะต้องวิ่งระยะไกลเป็นอันดับสุดท้าย
1. วิ่งเร็ว 50 เมตร (50 Meter Sprints)
1.1 อุปกรณ์
1.1.1. นาฬิกาจับเวลาอ่านละเอียด 1/100 วินาที
1.1.2. ลู่วิ่ง 50 เมตร มีเส้นเริ่ม และเส้นชัย
1.1.3. ปืนปล่อยตัว (ถ้าไม่มีให้ใช้ทัศนสัญญาณอย่างอื่นที่ผู้จับเวลารู้เห็นได้ เช่น โบกธง หรือผ้าเช็ดหน้า หรือตบมือ)
1.2 วิธีทดสอบ เมื่อมีคำสัญญาณว่า “เข้าที่” ให้ผู้เข้ารับการทดสอบยืนเท้าใดเท้าหนึ่งจรดเส้นเริ่ม (ไม่ต้องย่อตัวในท่าออกวิ่ง) เมื่อพร้อมแล้วให้สัญญาณปล่อยตัว ผู้เข้ารับการทดสอบวิ่งเต็มที่ไปตามทางที่กำหนดให้จนถึงเส้นชัย
1.3 การบันทึก บันทึกเวลาเป็นวินาที และทศนิยมสองตำแหน่ง
1.4 ระเบียบการทดสอบ
1.4.1. ควรใช้ปืนในการปล่อยตัว (หากปฏิบัติไม่ได้ให้ใช้ทัศนสัญญาณเพื่อให้ผู้จับเวลาที่อยู่ใกล้เส้นชัยสามารถเห็นได้)
1.4.2. ไม่ควรใช้รองเท้าตะปู
1.4.3. อนุญาตให้วิ่งได้ 2 ครั้ง แล้วบันทึกเวลาที่ดีที่สุด
1.4.4. จัดผู้จับเวลาผู้วิ่งแต่ละคนได้ยิ่งดี (ผู้จับเวลาที่ชำนาญ และว่องไวสามารถจับเวลานักวิ่งได้ทีละ 2 คน โดยใช้นาฬิกาที่มีเข็มแยกเวลา)
1.4.5. ทางวิ่งควรเป็นทางเรียบอยู่ในสภาพที่ดี
2. ยืนกระโดดไกล (Stranding Broad Jump)
2.1 อุปกรณ์
2.1.1. ใช้พื้นที่เรียบ และไม่ลื่น
2.1.2. เทปวัดระยะ และไม้อักษร T ใหญ่
2.1.3. แปรงปัดฝุ่น หรือผ้าเช็ดพื้น (หมายเหตุ ทำเส้นเริ่ม ขึงเทปวัดระยะไว้กับพื้นข้างทางที่จะกระโดดให้พร้อมที่จะอ่านคะแนนได้ทันที)
2.2 วิธีทดสอบ
ให้ผู้เข้ารับการทดสอบยืนปลายเท้าทั้งสองอยู่หลังเส้นเริ่ม หลังจากเหวี่ยงแขนทั้งสองไปข้างหลัง และก้มตัวไปข้างหน้าแล้ว เมื่อได้จังหวะก็เหวี่ยงแขนทั้งสองไปข้างหน้าอย่างแรงพร้อมกับกระโดดด้วยเท้าทั้งสองไปข้างหน้าให้ได้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้
2.3 การบันทึก บันทึกระยะทางที่กระโดดได้เป็น เซนติเมตร
2.4 ระเบียบการทดสอบ
2.4.1. ให้ประลองได้ 2 ครั้ง เอาครั้งที่ดีที่สุด
2.4.2. ให้วัดระยะจากเส้นเริ่มไปยังรอยเท้าข้างที่ใกล้ที่สุด ถ้าผู้เข้ารับการทดสอบเสียหลัก หงายหลังมือแตะพื้นถือว่าใช้ไม่ได้ให้ประลองใหม่
2.4.3. เท้าทั้งสองต้องอยู่บนพื้นจนกระโดดออกไป
3. งอตัวไปข้างหน้า (Trunk Forward Flexion)
3.1 อุปกรณ์
3.1.1. เครื่องวัดความอ่อนตัว (Flexibilimeter) สามารถอ่านค่าบวก และลบได้
3.1.2. โต๊ะสี่เหลี่ยม
3.2 วิธีทดสอบ วางเครื่องมือวัดความอ่อนตัวลงบนโต๊ะ ให้ผู้เข้ารับการทดสอบขึ้นยืนบนฐานเครื่องมือวัดความอ่อนตัว หน้าชิด เข่าตึง ปลายเท้าจรดขอบเครื่องวัดความอ่อนตัว พร้อมแล้วก้มตัวปล่อยมือทั้งสองลงข้างหน้า นิ้วหัวแม่มือเกี่ยวกัน แบะฝ่ามือให้ปลายนิ้วกลางเหยียดดันสลักเลื่อนลงไปตามแนวของแกนเครื่องวัดความอ่อนตัวจนไม่สามารถก้มต่อไปได้
3.3 การบันทึก บันทึกระยะเป็นเซนติเมตร ถ้าปลายนิ้วกลางเหยียดเลยปลายเท้า บันทึกค่าเป็นบวก ถ้าไม่ถึงปลายเท้าบันทึกค่าเป็นลบ
3.4 ระเบียบการทดสอบ
3.4.1. ให้ผู้เข้ารับการทดสอบถอดรองเท้า ก่อนยืนบนฐานเครื่องมือวัดความอ่อนตัว
3.4.2. เข่าตึงเสมอไม่งอ จะเอียงแขนใดแขนหนึ่งไม่ได้ ให้มือทั้งสองเสมอกัน
3.4.3. ให้ประลองได้ 2 ครั้ง เอาครั้งที่ดีกว่าเป็นผลการประลอง
(โปรดติดตามตอนที่สอง)
ผู้เขียน: นอ.(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์
สนับสนุนโดย ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ
www.bangkokhospital.com