มะเร็งกระดูก
หยุดมหันตภัยร้ายด้วยยายับยั้ง
“ โรคมะเร็ง” หลายๆ คนคงจะรู้สึกถึงความร้ายกาจกันเป็นอย่างดี บางท่านอาจขยาดเพราะคนในครอบครัวอาจจะเป็นกันเยอะเพราะโรคนี้สามารถคร่าชีวิตได้แทบทุกกรณีหากไม่รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ บางจุดจะรู้สึกถึงความเจ็บปวดแต่เพียงภายนอก แต่หากเกิดขึ้นจากภายในร่างกายกลับเจ็บปวดกว่าหลายเท่า ดังกรณีของ “โรคมะเร็งที่กระดูก” ที่ถือเป็นโครงสร้างหลักของร่างกายผู้ป่วยจะต้องทุกข์ทรมานหากไม่ทราบวิธีการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี
“รศ.น.พ.นรินทร์ วรวุฒิ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำแนะนำดีๆ กับคนที่สนใจเรื่องสุขภาพร่างกายแล้ว โดยคุณหมอได้เล่าถึงความเป็นมาของการเกิดโรคมะเร็งว่า “กระดูก” เป็นอวัยวะสำคัญที่นับว่าเป็นโครงสร้างของร่างกายทีเดียว เป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือด และเกล็ดเลือดอีกด้วย
เมื่อโรคมะเร็งเกิดขึ้นในร่างกาย เชื้อร้ายจะแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เข้าไปทำลายอวัยวะนั้นๆ และขึ้นสุดท้ายก็คือ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด ถ้าอวัยวะไหนที่ถูกมะเร็งทำลายเป็นอวัยวะที่สำคัญๆ โดยเฉพาะที่กระดูกซึ่งเป็นอวัยวะหนึ่งที่เชื่อมะเร็งจะแพร่กระจายเข้าไปได้บ่อย ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายๆ ประการ เช่นกระดูกหนัก มะเร็งกดทับไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตทำให้หมดสติหรือชักได้ เข้าไปทำลายการสร้างเม็ดเลือด ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำติดเชื้อง่าย ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งมีชีวิตสั้นลง
หากมะเร็งเข้าสู่กระดูกแล้ว มันสามารถวิ่งไปได้ทั่วร่างกาย เพราะกระดูกมีอยู่ทั่วร่างกาย มีเส้นเลือดที่ต่อถึงกันภายในกระดูกและไขกระดูก นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมภายในกระดูกยังช่วยให้มะเร็งบางชนิดเจริญเติมโตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากระดูกเป็นเป้าหมายของการพัฒนาค้นหาวิธีการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ในการรักษาได้ขยายขอบเขตมากขึ้น แทนที่จะมุ่งเน้นเฉพาะการรักษาที่ตัวโรคมะเร็งโดยตรง ยังมีการขยายขอบเขตการรักษาไปยังเซลล์ปกติ และสิ่งแวดล้อมภายในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการลุกลามของโรคมะเร็ง
ปัจจุบันหลายๆ โรงพยาบาล ได้เริ่มมีการนำนวัตกรรมการรักษามะเร็งเข้ากระดูกไปใช้กันบ้างแล้วโดยเป็น “การพัฒนายา” เพื่อยับยังเซลล์ที่ทำลายกระดูกชื่อ “ออสทีโอคลาสต์ (Osteoclast)” ซึ่งในสภาวะปกติ จะทำหน้าที่สลาย กระดูก เพื่อปรับรูปร่างกระดูกให้ปกติ แต่เมื่อเซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าไปสู่กระดูก แล้วจะปล่อยสารบางชนิดกระตุ้นการเจริญเติมโต และวิวัฒนาการของเซลล์กระดูให้ทำลายกระดูกมากขึ้น เซลล์กระดูกปกติที่ได้รับสารกระตุ้นจากเซลล์ มะเร็งจะปล่อยปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติมโตของเซลล์มะเร็งและสารอื่นๆ อีกหลายชนิด กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเจริญเติมโตเร็วขึ้นทำให้โรคมะเร็งลุกลามเร็วขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้ากระดูกเสียชีวิตเร็วขึ้นนับเป็นมหันตภัยเงียบที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบ
ทั้งนี้ “ยายับยั้งกระดูก” ที่พัฒนานี้ เป็นยาที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายสารประกอบของกระดูกชื่อ “ไพโรฟอสเฟต” เมื่อฉีดหรือรับประทานเข้าไปจะถูกสะสมอยู่ที่กระดูกเป็นส่วนใหญ่ และออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์กระดูกออสทีโอคลาสต์ ทำให้กระดูกถูกมะเร็งทำลายน้อยลง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนในคนปกติได้อีกด้วย
“ยายับยั้งกระดูกดังกล่าวนี้เป็นยาในกลุ่มที่เรียกว่า บิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate)” มีการพัฒนามาแล้ว 3 รุ่นโดยรุ่นแรกเป็นยาอ่อนมีประสิทธิภาพต่ำในการยับยั้งกระดูก รุ่นที่ดีที่สุดในปัจจุบันเป็นยารุ่นที่สาม มีสูตรโครงสร้างประกอบได้วยอะตอมไนโตรเจนและวงแหวนทำให้จับกระดูกได้มากขึ้นมีประสิทธิภาพ และความจำเพาะสูงในการยับยั้งกระดูก
สำหรับข้อบ่งชี้ของยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต ก็คือป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก ได้แก่ ป้องกันภาวะกระดูกหักจากโรคมะเร็ง ป้องกันมะเร็งกดทับไขสันหลังและรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูง มีงานวิจัยบางรายงานพบว่า ยากลุ่มนี้ สามารถป้องกันไม่ได้มะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูกได้
จากการศึกษาในห้องปฎิบัติการพบว่ายายับยั้งกระดูกออกฤทธิ์รักษาโรคมะเร็งหลายประการ ได้แก่ การยับยั้งเส้นเลือดที่มาเลี้ยงเซลล์มะเร็งออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรงเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโรคมะเร็งเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในกระดูก ทำให้ขัดขวางการเจริญเติมโตและลุกลามของ เซลล์มะเร็ง และตัดวัฏจักรความสัมพันธ์เกื้อกูลกันและกันระหว่างเซลล์มะเร็งและเซลล์ในกระดูกส่งเสริมเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผลลัพธ์คือเกิดการเสริมฤทธิ์การทำลายมะเร็งเพิ่มขึ้น
นับได้ว่าการรักษามะเร็งมีความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้การรักษาโรคมะเร็งมีประสิทธิภาพ มีความจำเพาะเกิดผลข้างเคียงลดน้อยลง การยับยั้งกระดูกเป็นนวัตกรรมในการเสริมวิธีรักษาโรคมะเร็ง ทั้งนี้การป้องกันมะเร็งเข้ากระดูกยังลดภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งเข้ากระดูก และยับยั้งโรคมะเร็งโดยตรงได้อีกด้วย
สำหรับประชาชนและผู้ป่วยทั่วไป ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก และต้องการตรวจด้วยเครื่องสแกนกระดูก (Express Bone Scan) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐานของการวินิจฉัยภาวะมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น สามารถเข้ารับการตรวจได้ตามโรงพยาบาลในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 3 แห่ง คือ ศูนย์มหาวชิราลงกรณ์ ธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี , โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ , โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ และจะเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 5 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางมาตรวจที่โรงพยาบาลของรัฐในกรุงเทพฯ สามารถเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาลใกล้เคียงได้ทันที
เป็นเรื่องที่น่าเอาใจช่วยการแพทย์ของไทยเมื่อสามารถพัฒนายายับยั้งได้แล้ว ต่อไปหนทางคิดค้นยารักษามะเร็ง คงจะกระทำได้ในอนาคตเชื่อเถอะแพทย์ไทยเราเก่ง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 2,443 (Weekender Plus 380)