X-FACTOR คือความต่างระหว่างการหมุนของสะโพกและการหมุนของไหล่ ตัวอย่างเช่นถ้าเราหมุนไหล่ซ้าย 90 องศา หมุนสะโพก 55 องศา หากนำค่าการหมุนของไหล่มาลบด้วยค่าการหมุนของสะโพก 90-55 จะได้ค่า X-FACTOR เท่ากับ 35 แต่ถ้าเราหมุนไหล่ 110 องศาแล้วหมุนสะโพก 35 องศา จะได้ค่า X-FACTOR เท่ากับ 75 ซึ่งเป็นค่า X-FACTOR ที่มากกว่า กรณีแรก
แนวความคิดของการสร้างค่า X-FACTOR ในอัตราสูง ทำได้โดยการยึดลำตัวช่วงล่าง โดยเฉพาะที่สะโพกให้คงที่ แล้วหมุนไหล่ให้มากที่สุด ยิ่งไหล่ซ้ายหมุนหนีห่างสะโพกซ้ายมากเท่าไหร่ ค่าของ X-FACTOR ยิ่งทวีคูณขึ้นเท่านั้น
นั่นหมายถึงแรงบิดอันมหาศาลที่จะเกิดขึ้นที่ลำตัว และแรงบิดที่ได้สะสมไว้นี้จะดีดตัวกลับอย่างแรงในขณะลงไม้ ผลที่ตามมาคือระยะการตีที่เพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นการเคลื่อนไหวนี้จากนักกอล์ฟชื่อดัง เช่น ไทเกอร์ วูดส์ เออร์นี่ เอลส์ หรือโปรรุ่นใหม่อย่าง คามิโล วิลเลกัส ที่ขึ้นไม้ด้วยการหมุนสะโพกน้อยกว่า 45 องศา ในขณะที่ไหล่หมุนเลย 90 องศา ซึ่งแตกต่างจากตำรากอล์ฟทั่วไปที่สอนให้หมุนสะโพก 45 องศา และหมุนไหล่ 90 องศา และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำให้นักกอล์ฟเหล่านี้ตีลูกได้ไกลเป็นลำดับต้นๆในพีจีเอทัวร์
ด้วยเหตุผลนี้ X-FACTOR จึงเป็นการเคลื่อนไหวยอดนิยมใน ทศวรรษ ที่20 โดยเฉพาะ ทิชชิ่งโปรรุ่นใหม่ได้นำความรู้เรื่อง X-FACTOR ไปใช้ ประกอบการสอนกันอย่างแพร่หลาย
ส่วนตัวผมเห็นว่า X-FACTOR เป็นการเคลื่อนไหวที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ถ้าเรานำมันไปใช้ด้วยปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกายของนักกอล์ฟแต่ละบุคคล การจะสร้าง X-FACTOR อย่างเต็มรูปแบบเหมือนพวกโปร โดยพยายามยึดสะโพกให้หมุนให้น้อยที่สุด แล้วหมุนไหล่ให้เต็มที่ได้ นักกอล์ฟผู้นั้นจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ เข้าโรงยิม มีโค้ชส่วนตัวคอยดูแลการบริหารร่างกายโดยเฉพาะในเรื่องของความยืดหยุ่น ผมเคยเห็น เออร์นี่ เอลส์ นักกอล์ฟร่างยักษ์แต่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถยืนเข่าตึงแล้วก้มตัวเอาหน้าผากแตะต้นขาได้ หรือเอามือซ้ายยกข้ามไหล่ซ้ายไปด้านหลัง แล้วเอามือขวาไขว้หลังมาเกี่ยวล็อกกับมือซ้ายได้เต็มๆ ผมเชื่อว่านักกอล์ฟทั่วไปอย่างเราท่านไม่สามารถทำอะไรแบบนี้ได้ (อยากให้ท่านผู้อ่านทดลองทำดูครับ)
มีอยู่วัน ผมบังเอิญเห็นเพื่อนโปรรุ่นน้องใช้ X-FACTOR ประกอบการสอนโดยนั่งคุกเข่าที่ด้านหลังของลูกศิษย์แล้วใช้มือจับสะโพกทั้ง 2 ข้างไม่ให้หมุนในขณะที่กำลังขึ้นไม้ ปรากฏว่าลูกศิษย์ผู้นั้นซึ่งเป็นชายตัวแข็งและหนา อายุราว 50 กลางๆหมุนไหล่ไม่ไปจนทำให้ลำตัวหงายกลับเข้าหาเป้าหมาย และต้องขึ้นไม้ด้วยการยกแต่แขนขึ้นในมุมชัน(รูป1)แล้วลงไม้คร่อมลงมาจากด้านนอกเข้าด้านในตีลูกเลี้ยวออกขวา เป็นกล้วยหอม
( รูป1 )
การสร้าง X-FACTOR ที่พอเหมาะสำหรับนักกอล์ฟที่มีความยืดหยุ่นของร่างกายในระดับกลางๆสามารถทำได้โดย
1) รักษาน้ำหนักให้ตกลงที่ด้านในเท้าซ้ายตลอดการขึ้นไม้
2) รักษามุมย่อของเข่าขวาให้คงที่และไม่แบะออกไปทางขวาตลอดการขึ้นไม้(รูป 2)
3) รักษาสะโพกและหัวเข่าทั้ง 2 ข้างให้แน่นิ่งในช่วง 4 ฟุตแรกของการขึ้นไม้(รูป 3)
( รูป2 )
( รูป3 )
ขบวนการนี้จะทำให้เกิดแรงบิดที่ช่วงกลางของลำตัวตั้งแต่ช่วงแรกของการขึ้นไม้ และหลังจากที่มือสวิงสูงขึ้น ไหล่ก็จะหมุนมากขึ้นและจะพาสะโพกให้หมุนตามโดยที่ยังคงไว้ซึ่งแรงบิดในอัตราส่วนที่เป็นที่น่าพอใจ(รูป 4)
สำหรับนักกอล์ฟอาวุโสที่มีลำตัวหนา ตัวแข็ง หรือพุงใหญ่ ที่มีความยืดหยุ่นต่ำไม่สามารถหมุนลำตัวช่วงบนได้เพียงพอ ผมขอแนะนำให้ตั้งใจหมุนกระเป๋ากางเกงด้านขวาไปด้านหลังในขณะขึ้นไม้ การหมุนกระเป๋ากางเกงไปทางด้านหลังก็คือการหมุนสะโพกซึ่งเป็นฐานของลำตัวช่วงบนและไหล่ ถ้าเราหมุนที่ฐาน ยอดก็จะหมุนตามไปด้วยได้มากขึ้นด้วย เป็นการยอมสูญเสียค่า X-FACTOR บางส่วนเพื่อแลกกับการให้ลำตัวช่วงบนและไหล่หมุนบิดได้เต็มที่และสามารถสวิงไม้เข้าปะทะเต็มๆลูกจากด้านในเส้นเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
( รูป4 )