book_2301b
4_4 แช้งค์ (SHANK)
ตุลาคม 30, 2011
Noon-Huachai
ขอแสดงความยินดีกับโปรนุ่น-นฐดา หัวใจ แชมป์รายการ Singha challenge#4
สิงหาคม 7, 2012
Show all

เลือกจับกริพเพื่อสร้างวงสวิงที่ดี หรือเพื่อแก้ไขลูกฮุคและลูกสไลซ์

การจับกริพ

 

เนื่องจากมือของเราเป็นอวัยวะส่วนเดียวที่เชื่อมติดกับไม้กอล์ฟ ดังนั้นรูปแบบของการวางมือลงบนด้ามกริพ จึงมีผลโดยตรงต่อการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่มือและแขน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมแนวการสวิงของก้านไม้ หัวไม้และตำแหน่งของหน้าไม้ขณะที่สวิงขึ้นและลงผ่านลูกกอล์ฟ

การจับกริพที่ไม่ถูกต้องเป็นจุดเริ่มต้นของข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับวงสวิง ตัวอย่าง เช่น นักกอล์ฟที่มีปัญหาตีลูกสไลซ์ส่วนใหญ่มักจับกริพแบบวีคกริพด้วยมือซ้ายที่อยู่ในตำแหน่งหงายมากจนเห็นข้อนิ้วบนหลังมือ 1 ข้อ และมือขวาที่อยู่ในตำแหน่งคว่ำมาก รูปตัว”v”กลับหัวที่ระหว่างโคนนิ้วชี้และโคนนิ้วโป้งชี้ตรงหน้า หรือชี้ไปทางด้านซ้าย (รูป 1) การจับกริพแบบนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้หัวไม้สวิงขึ้นในมุมชัน และสวิงลงจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมายเข้ากระทบลูกกอล์ฟด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งเปิด ตีลูกหมุนเลี้ยวออกขวา

ในทางตรงข้ามการจับกริพแบบสตรองกริพด้วยมือซ้ายที่คว่ำมากจนเห็นข้อนิ้วบนหลังมือ 4 ข้อและมือขวาที่หงายมาก รูปตัว” v ” ชี้ไปที่ด้านนอกไหล่ขวา (รูป 2) จะบังคับให้ขึ้นไม้ด้วยการตวัดหัวไม้ลึกเข้าไปทางด้านหลังมากด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งปิด แขนหนีบติดลำตัวที่จุดสุงสุดและสวิงไม้กลับเข้าหาลูกกอล์ฟในแนวเดิมจากด้านในดันออกด้านนอกเส้นเป้าหมายเข้ากระทบลูกด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งปิด ตีลูกม้วนมุดเข้าด้านซ้าย

การจับกริพ

รูป 1

การจับกริพ

รูป 2

การจับกริพแบบเป็นกลาง( Neutral Grip )

ลองห้อยแขนซ้ายลงที่ด้านข้างลำตัวแบบสบายๆ หลังจากนั้นให้รวบนิ้วมือเข้าหากันเหมือนการจับด้ามกริพ แล้วยกมือมาที่ด้านหน้าลำตัวเหมือนตอนยืนจดลูก ถ้าก้มลงมองตรงๆ (โดยไม่เอียงหน้า) ท่านจะเห็นข้อนิ้วบนหลังมือราวสองข้อครึ่ง รูปตัว ” v ” ชี้ไปที่หูขวา นี่คือตำแหน่งของมือซ้ายที่อยู่ในตำแหน่งเป็นกลางตามธรรมชาติและเป็นตำแหน่งถนัดของมนุษย์ที่มีร่างการปกติทั่วไป หลังจากนั้นให้จับกริพมือขวาให้ฝ่ามือขวาหงายเข้าหาฝ่ามือซ้ายคล้ายท่าปรบมือด้วยรูปตัว” v ” ชี้ไปที่หูขวาเช่นกัน (รูป 3)

การจับกริพที่เป็นกลางแบบนี้ถือว่าเป็นกริพที่เป็นมาตรฐานเหมาะสำหรับนักกอล์ฟทั่วไปที่มีความแข็งแรงระดับปานกลาง โดยเฉพาะนักกอล์ฟมือใหม่ที่ต้องการฝึกหัดวงสวิง หรือนักกอล์ฟที่ตีมาแล้วที่ต้องการปรับปรุงแก้ไขวงสวิงให้ถูกต้องสวยงามตามตำรา

การจับกริพ

รูป 3

การจับกริพ

รูป 4

สตรองกริพ ( Strong Grip ) เหมาะสำหรับใช้แก้ไขลูกสไลซ์

สตรองกริพในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจับสตรองกริพแบบสุดขั้วที่เป็นต้นเหตุของการตีลูกฮุค แต่ ผมหมายถึงการจับกริพที่เป็นกลางแต่ค่อนไปทางสตรอง ด้วยการจับกริพมือซ้ายให้คว่ำจนเห็นข้อนิ้วบนหลังมือ เต็มๆ 3 ข้อ (แต่ไม่ให้เห็นข้อนิ้วข้อที่ 4) ซึ่งจะทำให้รูปตัว ” v ” ชี้ไปที่ด้านในไหล่ขวา จับกริพมือขวาในลักษณะหงายฝ่ามือเข้าหาฝ่ามือซ้ายเหมือนท่าตบมือ ซึ่งจะทำให้ตัว ” v ” ชี้ไปที่ด้านในไหล่ขวาเช่นกัน (รูป 4)

การจับกริพด้วยมือซ้ายที่คว่ำและมือขวาที่หงายมากขึ้นแบบนี้นอกจากจะทำให้มือและแขนสามารถพลิกหน้าไม้ให้ปิดกลับมากระทบลูกในตำแหน่งสแควร์ได้อย่างเป็นธรรมชาติแล้ว ยังจะช่วยให้มือและแขนสวิงไม้ให้เข้าร่องเข้ารอยส่งผลให้ลำตัวหมุนได้มากขึ้น และมีโอกาสสวิงหัวไม้กอล์ฟจากด้านในเส้นเป้าหมายเข้ากระทบลูกเพื่อแก้ไขอาการตีลูกสไลซ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สตรองกริพยังเหมาะกับนักกอล์ฟที่แรงน้อย เช่น นักกอล์สตรี นักกอล์ฟยุวชนอายุน้อยๆ นักกอล์ฟอาวุโสที่กำลังเริ่มถดถอยที่มักสแควร์หน้าไม้ไม่ทันที่จุดกระทบทำให้ตีลูกเฟดหรือลูกสไลซ์ การจับกริพด้วยมือซ้ายที่คว่ำและมือขวาที่หงายมากขึ้นจะส่งผลให้มือและแขนมีแรงพลิกหน้าไม้กลับมาตีลูกให้ตรงหรือตีลูกให้ดรอร์ได้ตามต้องการ

วีคกริพ ( Weak Grip ) เหมาะสำหรับใช้แก้ไขลูกฮุค

การจับกริพ            เพื่อการแก้ไขอาการตีลูกฮุคที่ต้นเหตุ ขอให้เริ่มการแก้ไขด้วยการจับกริพแบบเป็นกลางค่อนไปทางวีค โดยจับกริพมือซ้ายให้เห็นข้อนิ้วบนหลังมือซ้ายแค่ 2 ข้อ จับกริพมือขวาให้ฝ่ามือขวาหันเข้าหาฝ่ามือซ้ายเหมือนท่าตบมือ รูปตัว ” v ” ของมือทั้งสองข้างชี้ไปที่ตาขวา(รูป 5) การจับกริพที่เป็นกลางค่อนไปทางวีคจะช่วยป้องกันไม่ให้หัวไม้ตวัดเข้าด้านในมากขณะลากไม้ออกจากลูกกอล์ฟ และป้องกันไม่ให้หน้าไม้อยู่ในตำแหน่งปิดที่จุดสุงสุด ซึ่งจะสร้างโอกาสให้สวิงหัวไม้เข้าหาลูกกอล์ฟในแนวที่ถูกต้องจากด้านในเส้นเป้าหมายเพียงเล็กน้อยเข้ากระทบลูกด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งสแควร์ที่จุดกระทบเพื่อตีลูกให้ตรงเข้าหาเป้าหมายได้ตามต้องการ

การจับกริพแบบเป็นกลางค่อนไปทางวีคยังเหมาะกับนักกอล์ฟฝีมือดีที่ตีไกลอยู่แล้ว แต่ต้องการพัฒนาเรื่องทิศทางการตีให้คงเส้นคงวา ซึ่งคำแนะนำก็คือการตั้งใจตีลูกให้เฟด (ลูกพุ่งตรงแล้วเลี้ยวออกด้านขวาเล็กน้อย)เหมือนกับโปรจำนวนมากที่นิยมตีลูกแบบนี้ เพราะลูกเฟดเป็นลูกที่ลอยค่อนข้างโด่งและตกหยุดแบบควบคุมได้ ซึ่งแตกต่างกับลูกดรอว์หรือลูกฮุคที่พุ่งค่อนข้างแรงลอยต่ำตกแล้ววิ่งไม่หยุด

และหากท่านต้องการหัดตีลูกเฟด การจับกริพให้เป็นกลางค่อนไปทางวีคคือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญยิ่งเป็นสิ่งแรกของการตีลูกให้เฟดให้คงเส้นคงวาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Comments

comments

สิทธิศักดิ์ นันทเทิม
สิทธิศักดิ์ นันทเทิม
// พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ การสอน THAI INTERNATIONAL GOLF TEACHING ACADEMY // พ.ศ. 2533-ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการด้านเทคนิค หนังสือพิมพ์ GOLF TIME