สไลซ์-รวบซ้าย ( SLICE-PULL)
|
วิธีตรวจสอบ
นอกจากนักกอล์ฟจะสามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดได้จากวิถีที่ลูกกอล์ฟพุ่งออกจาก หน้าไม้ตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว อาการดังต่อไปนี้ยังสามารถบ่งบอกได้ว่า นักกอล์ฟกำลังมีปัญหาตีลูกรวบซ้ายและลูกสไลซ์
การสวิงไม้จากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมายลงหาลูกกอล์ฟในมุมชันจะมีผลทำให้
1. เมื่อตีเหล็กกลางแฟร์เวย์ รอยไดวอทจะลึก สั้น และชี้ไปทางซ้ายของเป้าหมายมาก
2. เมื่อตีลูกที่ตั้งอยู่บนทีด้วยหัวไม้ บ่อยครั้งที่หัวไม้จะสวิงสับลงลอดใต้ลูกกอล์ฟตีลูกพุ่งขึ้นสูงและลอยไปใน ระยะที่สั้นมาก (ตามภาพแสดง)
3. ตีลูกแช้งค์คอไม้
4. มีปัญหาการรักษาการทรงตัวขณะสวิง
วิธีแก้ไข
ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าทั้งการตีลูกสไลซ์ออกขวาและการตีลูกรวบเข้าซ้าย มีต้นเหตุของข้อผิดพลาดเดียวกัน คือการที่หัวไม้สวิงเข้าหาลูกกอล์ฟจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมาย ดังนั้น นักกอล์ฟจึงต้อง 1. แก้ไขแนวการสวิงของหัวไม้ให้สวิงเข้าหาลูกกอล์ฟจากด้านในเส้นเป้าหมายให้ได้ เป็นสิ่งแรกแล้วจึง 2. เรียนรู้ที่จะเคลื่อนลำตัว แขน และมือให้สวิงหน้าไม้กลับมากระทบลูกในตำแหน่งสแควร์ที่จุดกระทบเพื่อตีลูก ให้ตรงเข้าหาเป้าหมาย
เพื่อการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ นักกอล์ฟควรเรียงลำดับขั้นตอนของการแก้ไข ตั้งแต่ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้ายอย่างถูกต้อง โดยทำการแก้ไขทีละขั้นตอน ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญแล้วจึงเริ่มแก้ไขขั้นตอนต่อไป ดังต่อไปนี้
ขั้นตอนของการแก้ไข
1. กริพ
2. ท่ายืนจรดลูก ตำแหน่งของลูก และการยืนเล็ง
3. การขึ้นไม้
4. การลงไม้
5. ท่าจบสวิง
ข้อผิดพลาดและวิธีแก้ไขที่ 1
กริพ
วีคกริพ (WEAK GRIP)-เกร็ง
ข้อผิดพลาดแรกที่ทำให้นักกอล์ฟตีลูกสไลซ์คือ การจับกริพแบบ “วีคกริพ” ด้วยมือซ้ายที่อยู่ในลักษณะหงาย และมือขวาที่อยู่ในลักษณะคว่ำ รูปตัว “V” ระหว่างนิ้วชี้และนิ้วโป้งชี้ตรงหน้าหรือชี้ที่ด้านซ้ายของหน้า (1)
การจับวีคกริพเป็นเหตุให้นักกอล์ฟสวิงไม้ขึ้นและลงในมุมชัน และยากที่จะพลิกหน้าไม้ให้กลับมากระทบลูกใน ตำแหน่งสแควร์ได้ทันเวลา
การจับกริพลึกเข้าไปในฝ่ามือมาก (2) การจับกริพด้วยนิ้วโป้งที่เหยียดยาวลงตามด้ามกริพ (3) และการจับกริพด้วยแรงบีบที่แน่นเกินความจำเป็นจะส่งผลให้ นักกอล์ฟเกิดอาการเกร็งที่บริเวณข้อมือ แขน และไหล่ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้นักกอล์ฟขึ้นไม้ผิดแนวและไม่สามารถพลิกหน้าไม้ให้ กลับมากระทบลูกในตำแหน่งสแควร์ได้ทันเวลา
จับกริพให้เป็นกลางค่อนไปทางสตรอง (STRONG-GRIP) ผ่อนคลาย
ปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้และถือว่าเป็นหัวใจของการแก้ลูกสไลซ์ คือการจับกริพให้อยู่ในตำแหน่งเป็นกลางแต่ค่อนไปทางสตรอง โดยเน้นให้ฐานของฝ่ามืออยู่ด้านบนด้ามกริพ (1) วางนิ้วโป้งให้อยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างนิ้วโป้งที่เหยียดยาวที่สุดกับนิ้วโป้งที่หดสั้นที่สุด (2) คว่ำมือซ้ายให้เห็นข้อนิ้วบนหลังมือซ้าย 3 ข้อเต็มๆ หงายมือขวาให้ฝ่ามือขวาหันตรงเข้าหาฝ่ามือซ้าย รูปตัว “V” ของมือทั้งสองข้างชี้ไปที่ไหล่ขวา (3) แล้วบีบกริพด้วยแรงบีบที่แผ่วเบาและผ่อนคลาย
หมายเหตุ
นักกอล์ฟควรใช้เวลาตรวจสอบการจับกริพให้ถูกต้องก่อนการตีลูกทุกครั้งให้เป็น กิจวัตร ฝึกซ้อมจนเกิดความชำนาญก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนต่อไป
ข้อผิดพลาดและวิธีแก้ไขที่ 2
ท่ายืนจรดลูก ตำแหน่งของลูก และการยืนเล็ง
ในขั้นตอนที่สองนี้จะเป็นการแก้ไขใน 3 หัวข้อข้างต้นไปพร้อมๆ กันโดยเริ่มจาก
2.1 ท่ายืนจรดลูก
ยืนคร่อม-ยืนตัวตั้ง-ไหล่สูงเท่ากัน
การยืนจรดลูกที่ผิดพลาด 3 รูปแบบที่เป็นสาเหตุทำให้หัวไม้สวิงลงหาลูกจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้า หมาย ประกอบด้วย
1. ยืนด้วยลำตัวช่วงบนที่โน้มไป ด้านหน้ามากจนน้ำหนักตกลงที่ปลายเท้า (1) ซึ่งเป็นเหตุให้นักกอล์ฟยกไม้ขึ้นและลงในมุมชัน
2. ในทางตรงข้ามนักกอล์ฟบางคนยืนด้วยลำตัวที่ตั้งตรง แขนทั้งสองข้างแนบชิดลำตัว (2) ทำให้ไม่มีช่องว่างเพียงพอให้แขนสวิงลงได้อย่างเป็นธรรมชาติ นักกอล์ฟจึงต้องสวิงไม้กอล์ฟห่างออกจากลำตัวลงหาลูกกอล์ฟจากด้านนอกเส้นเป้าหมาย
3. ถ้าดูจากด้านหน้าจะเห็นได้ว่าหัวไหล่ทั้งสองข้างอยู่ในระดับเดียวกัน กระดูกสันหลังตั้งตรง หรือเอนไปทางซ้าย (3) ข้อผิดพลาดนี้นอกจากจะทำให้นักกอล์ฟไม่สามารถหมุนบิดลำตัวไปทางด้านขวาได้แล้ว ยังจะทำให้ลำตัวพลิกหงายกลับไปทางด้านซ้ายที่จุดสูงสุดของการขึ้นไม้ (REVERSE PIVOT) ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักอีกประการที่ทำให้หัวไม้สวิงลงหาลูกกอล์ฟจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมาย (ดูวิธีตรวจสอบหน้า 9) (* ดูบทความ บทที่1 “ยืนจรดลูกผิดท่า” หัวข้อวิธีตรวจสอบ)
ถ่วงน้ำหนักสมดุล-ลำตัวช่วงบนเอียงขวา
เพื่อการแก้ไข นักกอล์ฟต้องยืนให้น้ำหนักสมดุลอยู่ที่กลางเท้าโดยให้เส้นดิ่ง ที่ลากจากหัวไหล่ผ่านปลายหัวเข่าและตกลงบนฝ่าเท้า (1) และต้องแน่ใจว่า ลำตัวช่วงบนตั้งแต่สะโพกขึ้นไปเอนไปทางด้านขวาเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้ไหล่ขวาต่ำกว่าไหล่ซ้าย มุมหักของลำตัวช่วงบนและต้นขาด้านขวาหักมากกว่าลำตัวช่วงบนและต้นขาด้านซ้าย เส้นดิ่งจากลูกกระเดือกผ่านด้านขวาของหัวเข็มขัดเล็กน้อย (2) (ดูวิธีฝึก หน้า 11-12) (* ดูบทความ บทที่ 1 “ยืนจรดลูกผิดท่า” หัวข้อ แบบฝึกหัดที่ 1 “ไหล่ หัวเข่า ฝ่าเท้า” และ แบบฝึกหัดที่ 2 “ตัวเอียงขวา”)
การยืนอย่างถูกต้องนี้จะช่วยให้นักกอล์ฟสามารถหมุนบิดลำตัวได้อย่างเต็มที่ พาไม้สวิงขึ้นตามแนวที่ถูกต้องและมีโอกาสสูงที่จะสวิงไม้ลงหาลูกกอล์ฟจาก ด้านในเส้นเป้าหมาย
ลูกค่อนซ้ายมาก
ข้อผิดพลาดในเรื่องของตำแหน่งของลูกกอล์ฟที่ทำให้นักกอล์ฟตีลูกสไลซ์ คือ การยืนจรดลูกด้วยตำแหน่งของลูกกอล์ฟที่ค่อนไปทางเท้าซ้ายมากจนทำให้ ไหล่อยู่ในตำแหน่งเปิดเป็นผลให้ไม้กอล์ฟสวิงขึ้น และลงคร่อมจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมาย (1) (ดูวิธีตรวจสอบ หน้า 14) (* ดูบทความ บทที่ 1 “ลูกกอล์ฟอยู่ผิดตำแหน่ง” หัวข้อ วิธีตรวจสอบ)
ยืนให้ลูกค่อนขวา
เคล็ดลับในการแก้ไขแนวการสวิงจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมายมาเป็นการ สวิงจากด้านในเส้นเป้าหมายเข้าหาลูกกอล์ฟ ทำได้โดยการยืนให้ลูกกอล์ฟอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนไปทางเท้าขวามากกว่าตำแหน่งมาตรฐานเล็กน้อย ตำแหน่งของลูกกอล์ฟที่ค่อนไปทางขวานี้จะช่วยสร้างโอกาสให้นักกอล์ฟสวิงหัวไม้เข้าหาลูกกอล์ฟจากด้านในเส้นเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
2.3 การยืนเล็ง
ยืนเปิด-ยืนปิด
ข้อผิดพลาด 2 รูปแบบของการยืนเล็งคือ 1. การยืนเล็งเผื่อไปทางซ้ายเพื่อตีให้ลูกเลี้ยวกลับเข้าหาเป้าหมาย การเล็งแบบนี้นอกจากจะทำให้หมดโอกาสแก้ลูกสไลซ์ให้หายได้แล้ว ยังจะทำให้นักกอล์ฟตีลูกสไลซ์เลี้ยวออกขวามากขึ้น หรือไม่ก็ตีรวบเข้าซ้ายอย่างแรง (1) 2. ยืนเล็งปิดไปทางขวาของเป้าหมาย เพื่อหวังที่จะช่วยให้หัวไม้สวิงเข้าหาลูกกอล์ฟจากด้านในเส้นเป้าหมายได้ ง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริงเวลาที่เรายืนด้วยลำตัวที่ปิดไปทางขวามากๆ นั้น ในจิตใต้สำนึกของเรารู้ดีว่าเป้าหมายที่ต้องการตีอยู่ทางซ้ายของตัวเรา จึงสวิงไม้ลงในทิศทางเดียวกับเป้าหมายซึ่งเป็นแนวที่ขวางกับแนวของลำตัว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการสวิงไม้จากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมายนั่นเอง (2) (ดูวิธีตรวจสอบหน้า 28) (* ดูบทความ บทที่ 1 “เล็งไม่ตรง” หัวข้อ วิธีตรวจสอบ)
ไหล่ขนาน-เท้าขวาต่ำ
ในการยืนเล็งอย่างถูกวิธี แนวของเส้นที่ลากผ่านปลายเท้า หัวเข่า สะโพก ไหล่ และแนวของสายตาจะขนานกับแนวของเส้นเป้าหมาย แต่สำหรับนักกอล์ฟที่มีปัญหาตีลูกสไลซ์และลูกรวบซ้าย ขอให้ดึงเท้าขวาลงต่ำกว่าเท้าซ้าย 2 นิ้วในขณะที่ยืนจรดลูก (ตามภาพแสดง) การดึงเท้าขวาลงต่ำนี้ จะช่วยให้นักกอล์ฟหมุนบิดลำตัวได้อย่างเต็มที่ขณะขึ้นไม้ เพื่อให้มีโอกาสสวิงไม้ลงหาลูกกอล์ฟจากด้านในเส้นเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ข้อควรระวังคือแนวของไหล่ยังคงต้องขนานกับแนวของเป้าหมาย ซึ่งทำได้โดยการยืนให้แนวของลำตัวขนานกับเส้นเป้าหมายตามปกติ แล้วจึงดึงแต่เท้าขวาให้ต่ำลง 2 นิ้ว โดยไม่ให้ไหล่ขยับตาม
ฝึกซ้อมท่ายืนจรดลูก ตำแหน่งของลูกกอล์ฟและการยืนเล็งจนเกิดความชำนาญ แล้วจึงเริ่มแก้ไขในขั้นตอนที่สาม
ข้อผิดพลาดและวิธีแก้ไขที่ 3
การขึ้นไม้
3.1 ช่วงลากไม้ออกจากลูกกอล์ฟ
ยกไม้ชัน-หน้าไม้แบะ
สาเหตุใหญ่ที่ทำให้หัวไม้สวิงจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมายประการหนึ่ง คือ การยกไม้ในมุมชันด้วยมือและแขนโดยไม่หมุนลำตัว เมื่อนักกอล์ฟยกไม้ขึ้นด้วยมือและแขน นักกอล์ฟก็จะฟาดไม้ลงด้วยมือและแขน ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นการลงไม้ในมุมชันที่ไม่พึงปรารถนา (1)
เหยียดกว้าง-หน้าไม้ปิด
เพื่อการแก้ไข ให้ลากไม้ออกจากลูกกอล์ฟเป็นแนวตรงตามแนวเส้นเป้าหมายด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งปิดมากกว่าปกติออกจากลูกกอล์ฟ (ตั้งใจให้หน้าไม้หันตรงเข้าหาลูกกอล์ฟให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้) พร้อมกับเหยียดแขนทั้งสองข้างออกไปเป็นมุมกว้าง ให้ปลายด้ามกริพเลยพ้นเท้าขวาเพื่อให้ลำตัวช่วงบนหมุนบิดตามการเหยียดของแขน (1) หลังจากที่ลำตัวช่วงบนเริ่มหมุน ไม้กอล์ฟจะถูกสวิงเข้าด้านในตามแนวที่ถูกต้องได้เองตามธรรมชาติ หากนักกอล์ฟลากไม้ออกจากลูกกอล์ฟในแนวและมุมที่ถูกต้อง ขณะที่ก้านไม้กอล์ฟสวิงขึ้นจนถึงจุดที่ก้านไม้ขนานพื้น ก้านไม้กอล์ฟจะขนานเส้นเป้าหมายพอดี ด้วยตำแหน่งของหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งปิดเล็กน้อยโดยเน้นให้สันด้านหน้าของ หน้าไม้ทำมุม 45 องศากับพื้น (2)
หมายเหตุ แขนท้ังสองข้างจะต้องเหยียดด้วยอาการ ผ่อนคลายปราศจากอาการเกร็ง และต้องระวังไม่ให้สะโพกและศีรษะโยกตามในขณะที่เหยียดแขน
3.2 จุดสูงสุดของวงสวิง
น้ำหนักตกที่เท้าซ้าย-หน้าไม้เปิด
ข้อผิดพลาดที่จุดสูงสุดของวงสวิงที่เป็นสาเหตุของการตีลูกรวบซ้ายและลูกสไลซ์
1. หน้าไม้อยู่ในตำแหน่งเปิด
2. ลำตัวพลิกหงายกลับเข้าหาเป้าหมายด้วยน้ำหนักที่ตกลงบนเท้าซ้าย (REVERSE PIVOT)
วิธีตรวจสอบ
1. ถ่ายภาพวีดีโอวงสวิงด้านขวา
2. หยุดภาพขณะที่ก้านไม้ขนานพื้น
– ถ้าสันด้านหน้าของหน้าไม้ชี้ลงดินไม่ขนานกับแขนซ้ายแสดงว่าหน้าไม้อยู่ในลักษณะเปิด (1)
3. ถ่ายภาพวีดีโอวงสวิงด้านหน้าตรง
4. หยุดภาพขณะยืนจรดลูกแล้วขีดเส้นที่ด้านซ้ายของศีรษะ
5. หยุดภาพที่จุดสูงสุดของวงสวิง
– ถ้าศีรษะเคลื่อนทับเส้น ลำตัวช่วงบนเอียงเข้าหาเป้าหมายน้ำหนักที่ตกลงบนเท้าซ้ายแสดงว่านักกอล์ฟมีอาการ REVERSE PIVOT (2)
หมุนตัว-หน้าไม้หงายขึ้นฟ้า
จุดประสงค์ของการขึ้นไม้ไปที่จุดสูงสุดอย่างถูกต้องคือการหมุนลำตัวช่วงบนให้บิดเป็นเกลียวเต็มที่ด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งสแควร์หรือปิดเล็กน้อย (หน้าไม้ หงายขึ้นฟ้า)
หลังจากที่นักกอล์ฟได้ลากไม้ออกจากลูกกอล์ฟมายังตำแหน่งที่ก้านไม้ขนานพื้น และขนานเส้นเป้าหมายด้วยหน้าไม้ที่ทำมุม 45 องศาอย่างถูกต้องแล้ว ให้นักกอล์ฟยกไม้ต่อขึ้นไปที่จุดสูงสุดด้วยความรู้สึกว่าหน้าไม้หรือฝ่ามือ ขวาหงายขึ้นฟ้า (1) การที่หน้าไม้และฝ่ามืออยู่ในลักษณะหงายขึ้นฟ้า จะช่วยให้หน้าไม้อยู่ในตำแหน่งสแควร์ หรืออยู่ในตำแหน่งปิดเล็กน้อยที่จุดสูงสุด เป็นการสร้างโอกาสให้นักกอล์ฟสามารถสวิงไม้ลงหาลูกกอล์ฟจากด้านในเส้นเป้าหมาย ด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งสแควร์ที่จุดกระทบได้ง่ายขึ้น
และเพื่อการหมุนลำตัวให้บิดเป็นเกลียวอย่างเต็มที่ ขณะที่นักกอล์ฟยกแขนขึ้น ให้ตั้งใจหมุนไหล่ซ้ายให้มาอยู่ที่บริเวณเหนือเข่าขวาที่จุดสูงสุด (2) (ดูแบบฝึกหัดการหมุนตัวเพิ่มเติมหน้า 62-63) (* ดูบทความ บทที่2 “ไม่หมุนตัว-แขนหนีบ-โอเวอร์สวิง” หัวข้อ แบบฝึกหัดที่ 1″หนีบหมวกตี และ แบบฝึกหัดที่ 2″ขวาดึงซ้าย””)
ฝึกซ้อมจนเกิดความชำนาญแล้วเริ่มแก้ไขในขั้นตอนต่อไป
ข้อผิดพลาดและวิธีแก้ไขที่ 4
การลงไม้
หัวไม้สวิงจากด้านนอกเข้าด้านใน
จาก การขึ้นไม้ด้วยแนวไม้ การหมุนตัว และหน้าไม้ที่ผิดพลาด ผนวกกับการพยายามตีให้แรงโดยการฟาดไม้ลงจากด้านบน เป็นสาเหตุให้ลำตัวช่วงบนหมุนเปิดคร่อมและสวิงหัวไม้ออกด้านนอกแล้วปาดเข้า ด้านในเส้นเป้าหมาย ตีลูกสไลซ์หรือตีลูกรวบเข้าซ้าย (ตามภาพแสดง) การเคลื่อนไหวนี้มักเกิดขึ้นกับนักกอล์ฟหัดใหม่และ นักกอล์ฟระดับกลางทั่วๆ ไป (ดูวิธีตรวจสอบหน้า 73) (* ดูบทความ บทที่ 3 “ลำตัวช่วงบนคร่อมลงหาลูก (OVER THE TOP)” หัวข้อ วิธีการตรวจสอบ “)
เริ่มลงไม้ด้วยลำตัวช่วงล่าง-ไม้สวิงจากด้านใน-หน้าไม้ปิดกลับ
ใน การลงไม้อย่างถูกต้อง ลำตัวช่วงล่างจะเป็นตัวเริ่มต้นการเคลื่อนไหวของการลงไม้โดยสะโพกจะหมุนเปิด และเคลื่อนไปทางซ้ายเข้าหาเป้าหมาย แขนและไม้กอล์ฟลดต่ำลงที่ด้านข้างลำตัว เมื่อถึงตำแหน่งนี้ ลำตัวซีกขวาคือไหล่ขวา แขนขวา มือขวา สะโพกขวา และขาขวาจะเริ่มพลิกเข้าหาเป้าหมายเพื่อเคลื่อนหน้าไม้ให้กลับมากระทบลูกใน ตำแหน่งสแควร์
แบบฝึกหัดที่ 1 “ เหวี่ยงเข้าร่อง ”
1. ขึ้นไม้อย่างถูกต้อง (1)
2. ค่อยๆ เคลื่อนไหวแบบช้าๆ โดยเคลื่อนสะโพกซ้ายกลับเข้าหาเป้าหมายมายืนบนเท้าซ้ายพร้อมๆ กับลดแขนลงข้างลำตัวให้มืออยู่เหนือหลังเท้าขวา ก้านไม้กอล์ฟขนานพื้น และขนานเส้นเป้าหมาย หน้าไม้อยู่ในตำแหน่งปิดราว 45 องศา (2) หยุดค้างท่าไว้ 3-4 วินาที เพื่อจับความรู้สึกและตรวจสอบตำแหน่งของก้านไม้ และหน้าไม้ให้ถูกต้อง
3. สวิงไม้กลับไปที่จุดสูงสุด (3) แล้วสวิงไม้ลงโดยเน้นให้ผ่านจุดตรวจสอบข้างต้น พร้อมกับตั้งใจพลิกมือให้หน้าไม้ปิดผ่านจุดกระทบไปจนจบวงสวิง (3-4)
ทำแบบฝึกหัดจนเกิดความชำนาญแล้วตีลูกด้วยความรู้สึกเดียวกัน
แบบฝึกหัดที่ 2 “ ประตูแก้สไลซ์ ”
เพื่อสร้างความรู้สึกของการสวิงไม้ลงหาลูกกอล์ฟในแนวที่ถูกต้องและการพลิกหน้าไม้ให้กลับมากระทบลูกในตำแหน่งสแควร์
1. วางลูกกอล์ฟ 3 ลูก ห่างกัน 6 นิ้ว เรียงเป็นเส้นตรง และชี้ไปยังเป้าหมาย
2. เลื่อนลูกกอล์ฟลูกที่อยู่ใกล้เป้าหมายลงด้านล่าง 4 นิ้ว
3. เลื่อนลูกกอล์ฟลูกสุดท้าย ขึ้นทางด้านบน 2 นิ้ว
4. วางลูกกอล์ฟลูกที่ 4 บนเส้นเป้าหมายห่างจากลูกกอล์ฟลูกกลางไปทางด้านขวา 2.5 ฟุต
5. วางลูกกอล์ฟลูกที่ 5 บนเส้นเป้าหมายห่างจากลูกกอล์ฟลูกกลาง ไปทางด้านซ้าย 2.5 ฟุต
6. ยืนจรดลูกกอล์ฟลูกกลาง ขึ้นไม้ครึ่งวงสวิงให้ก้านไม้ชี้ไปที่ลูกกอล์ฟลูกที่ 4 (1) แล้วสวิงไม้ลงมาตีลูก และจบครึ่งวงสวิงให้ก้านไม้ชี้ไปที่ลูกกอล์ฟฟลูกที่ 5 (2)
ถ้านักกอล์ฟสวิงไม้ลงหาลูกกอล์ฟจากด้านนอกเข้าด้านในเส้นเป้าหมายอย่างที่ เคยทำ หัวเหล็กจะตีถูกลูกกอล์ฟทั้ง 3 ลูกที่อยู่ด้านใน นักกอล์ฟต้องพยายามฝึกซ้อมหาแนวที่หัวเหล็กสวิงจากด้านในเส้นเป้าหมายลงมาตี ลูกกอล์ฟลูกกลางเพียงลูกเดียว ส่วนการตั้งใจให้ก้านไม้ชี้ไปที่ลูกกอล์ฟลูกที่ 4 และลูกที่ 5 ขณะสวิงไม้ขึ้นและลงนั้น จะช่วยให้นักกอล์ฟขึ้นไม้ในแนวที่ถูกต้อง และฝึกให้แขนพลิกหน้าไม้เข้ากระทบลูกในตำแหน่งสแควร์ที่จุดกระทบ
แบบฝึกหัดที่ 3 “ คว่ำหน้าไม้ลงดิน ”
เป็นที่แน่นอนว่า ถ้าหน้าไม้อยู่ในตำแหน่งเปิดที่จุดกระทบ ลูกที่ตีจะสไลซ์ออกทางด้านขวา วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือการพยายามหัดตีลูกให้ฮุคเข้าทางด้านซ้าย โดย
1. สวิงวงเล็กๆ เหมือนกับการชิพลูก (ตั้งบนที) ด้วยเหล็ก 7
2. ขณะลงไม้ให้ตั้งใจพลิกมือและแขนให้หน้าไม้ปิดผ่านจุดกระทบมาจบวงสวิงด้วยแขน ทั้งสองข้างที่เหยียดตรงด้วยอาการผ่อนคลายและหน้าไม้ที่คว่ำลงดิน (ตามภาพแสดง)
หากนักกอล์ฟปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ลูกที่ตีจะเลี้ยวเข้าทางด้านซ้าย และนั่นก็หมายความว่านักกอล์ฟได้เรียนรู้ที่จะพลิกมือและแขนพาหน้าไม้ปิด กลับผ่านจุดกระทบได้อย่างถูกต้อง เมื่อสามารถตีลูกให้เลี้ยวเข้าทางด้านซ้ายได้อย่างสม่ำเสมอแล้วก็ให้ตีลูก ด้วยการขึ้นไม้เต็มวงสวิง และจบเต็มวงสวิงตามปกติ หากลูกที่ตียังเลี้ยวเข้าซ้ายอยู่ก็ให้สวิงโดยไม่ต้องตั้งใจพลิกมือและแขน หรือปรับการพลิกของมือและแขนให้ช้าลงจนสามารถตีลูกได้ตรง ถ้าลูกที่ตียังเลี้ยวออกขวาก็ให้กลับไปซ้อมชิพให้ลูกเลี้ยวเข้าทางซ้าย เพื่อทบทวนความรู้สึกของการพลิกมือและแขนอีกครั้ง
ข้อผิดพลาดและวิธีแก้ไขที่ 5
จบต่ำ-ศอกกาง-ข้อมือล็อก
นักกอล์ฟที่ตีลูกสไลซ์หรือลูกรวบซ้ายจะสวิงไม้ลงจากด้านนอกเส้นเป้าหมายเข้า กระทบลูกด้วยหน้าไม้ที่อยู่ในตำแหน่งเปิด หลังจากนั้นมือและไม้กอล์ฟจะสวิงรวบเข้าทางด้านซ้ายของลำตัวเป็นเหตุให้ศอก ซ้ายชักขึ้น แล้วจบสวิงด้วยแขนทั้งสองข้างที่อยู่ในระดับต่ำหนีบใกล้ตัว ศอกซ้ายกางห่างจากศอกขวามาก ข้อมือล็อกไม่หักพับ (1)
ในทางตรงข้ามถ้านักกอล์ฟตั้งใจสวิงมือและไม้กอล์ฟให้หลุดห่างออกจากลำตัว เหมือนกับจะสวิงไม้ดันออกทางด้านขวาของเป้าหมายขึ้นไปจบสวิงให้สูง เหนือศีรษะด้วยศอกทั้งสองข้างที่อยู่คู่กัน (ห่างเท่าๆ กับตอนที่ยืนจรดลูก) และพับข้อมืออย่างถูกต้องก็จะส่งเสริมให้นักกอล์ฟมีโอกาสสวิงไม้เข้าหาลูก กอล์ฟจากด้านในเส้นเป้าหมาย และคลายข้อมือพลิกหน้าไม้เข้ากระทบลูกในตำแหน่งสแควร์ได้ง่ายขึ้น (2)
จากหนังสือ แก้-วงแบบมือโปร โดย สิทธิศักดิ์ นันทเทิม
#หัดตีกอล์ฟ, #สอนตีกอล์ฟ, #สวิง, #สอนสวิงกอล์ฟ, #แก้วง, #สไลซ์-รวบซ้าย ( SLICE-PULL)