ทดสอบสมรรถภาพทางกาย ตอนที่ 3

การออกกำลังกายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่มีผลต่อสมรรถภาพทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเน้นในวัยเด็กและวัยรุ่น การออกกำลังกายทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ มีการเจริญและพัฒนาขึ้นทั้งความยาวและความหนา ปัจจุบันได้มีการมุ่งเน้นพัฒนาสมรรถภาพทางระบบหายใจและการไหลเวียนของเลือดเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นหมายถึงผู้ที่มีสมรรถภาพทางระบบหายใจและการไหลเวียนของเลือดสูง จะสามารถยืนหยัดต่อการทำงานหนักๆ ได้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ประโยชน์ที่ได้รับคือการทำงานของหัวใจ ปอด และหลอดเลือดที่แข็งแรงมากขึ้น ตัวอย่างกิจกรรมที่มุ่งเน้นพัฒนาสมรรถภาพทางระบบหายใจและการไหลเวียนของเลือด ได้แก่ การวิ่งระยะทาง 1500 เมตร วิ่งมาราธอน ว่ายน้ำ ฟุตบอล บาสเกตบอล และเต้นแอโรบิค เป็นต้น

ในแง่ของการพัฒนาความอดทนของกล้ามเนื้อที่เรียกว่า muscular endurance จัดเป็นความสามารถของกล้ามเนื้อมัดหนึ่งๆ หรือหลายๆ มัดที่สามารถประกอบกิจกรรมติดต่อกันได้เป็นเวลานานๆ โดยไม่หยุดยั้ง และยังสามารถรักษาคุณภาพของกิจกรรมนั้นๆ ได้อย่างสม่ำเสมอหรือดีกว่าเดิม อีกทั้งความคล่องแคล่วว่องไวในการเปลี่ยนแปลงทิศทาง หรือท่าทางได้อย่างรวดเร็ว เช่น การวิ่งเปรี้ยว วิ่งเก็บของ วิ่งข้ามรั้ว วิ่งหลบคู่ต่อสู้ในการเล่นรักบี้ฟุตบอล ยิ่งช่วยส่งเสริมความทนทานของกล้ามเนื้อและส่งผลช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานติดต่อกันหนักๆ ได้เป็นเวลายาวนานมากขึ้น

ความทนทานของระบบไหลเวียนโลหิต (circulatory endurance) ถือเป็นส่วนสำคัญของสมรรถภาพทางกาย ความสามารถในการทำงานของหัวใจที่เกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดในขณะที่ร่างกายใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ทำงานหนักปานกลางได้เป็นเวลานานๆ โดยไม่รู้สึกเหนื่อย เช่น วิ่งระยะไกล ว่ายน้ำระยะกลาง ระยะไกล เป็นต้น นอกจากนี้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (muscular strength) อาจประเมินได้จากความสามารถของกล้ามเนื้อในการออกแรงยก ดัน ดึง บีบ วัตถุที่มีแรงต้านให้วัตถุนั้นสามารถเคลื่อนที่ไปได้ตามแรงที่บังคับของกล้ามเนื้อนั้นได้สูงสุดเพียงครั้งเดียว เช่น ยกน้ำหนัก หิ้วกระป๋องน้ำ เป็นต้น

ความสามารถของร่างกายที่เน้นหนักไปทางการเคลื่อนไหวซึ่งเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ พลังภายในมัดกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และข้อต่อต่างๆ เรียกว่า มรรถภาพกลไก (motor fitness) ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากความสามารถในการวิ่ง การกระโดด การหลบหลีก การล้ม การยกของหนัก เป็นต้น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (muscular strength) ที่หมายถึงความสามารถสูงสุดของการหดตัวของกล้ามเนื้อของกล้ามเนื้อแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ ความแข็งแรงแบบพลังระเบิด ความแข็งแรงแบบที่มีการเคลื่อนที่ และความแข็งแรงแบบอยู่กับที่ จึงควรพัฒนากำลังของกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงแบบมีพลังระเบิดในลักษณะที่กล้ามเนื้อทำงานได้สูงสุดในหนึ่งครั้ง เช่น การยืนกระโดดไกล กระโดดสูง

ประการสุดท้ายสำหรับการพัฒนาสมรรถภาพทางกายเป็นเรื่องของความยืดหยุ่นตัว ซึ่งหมายถึงความอ่อนตัวของร่างกายในการทำงานของข้อต่างๆ โดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ความอ่อนตัวสูงสุด (extent flexibility) หมายถึงความสามารถที่จะบิดงอหรือดัดส่วนของร่างกายได้มากที่สุด เช่น ก้มตัวเอามือแตะพื้นโดยไม่ต้องงอเข่า และความอ่อนตัวขณะเคลื่อนที่ (dynamic flexibility) ได้แก่ ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อให้กระทำความอ่อนตัวได้หลายๆ ครั้งอย่างรวดเร็ว เช่น การทำสคว้อททรัสต์ เป็นต้น ความอ่อนตัวทั้งสองชนิดไม่สัมพันธ์กับความเร็ว ซึ่งหมายความถึงความสามารถที่จะทำการเคลื่อนที่อย่างเดียวกันในเวลาสั้นที่สุด เช่น การวิ่งเร็ว เต้นเร็ว เป็นต้น

ผู้เขียน: นอ.(พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์
สนับสนุนโดย ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ
www.bangkokhospital.com

 

Comments

comments