ลูกกอล์ฟและหลุมกอล์ฟ

กอล์ฟ (อังกฤษ: Golf) คือกีฬาหรือเกมประเภทบอลชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้เล่นใช้ไม้หลายชนิดตีลูกบอลให้ลงหลุม จากกฎของกอล์ฟ ระบุว่า กีฬากอล์ฟประกอบด้วยการเล่นลูกใดลูกหนึ่งด้วยไม้กอล์ฟจากแท่นตั้งทีไปลงหลุมโดยการสโตรคหนึ่งครั้งหรือหลายครั้งต่อเนื่องกันตามกฎข้อบังคับ” กอล์ฟเป็นหนึ่งในกีฬาประเภทบอลเพียงไม่กี่ชนิดที่ไม่มีอาณาเขตการเล่นที่แน่นอน (สนามกอล์ฟแต่ละแห่งสามารถมีรูปร่างและขนาดต่างกัน)

 

ต้นกำเนิดของกอล์ฟนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ระหว่างเนเธอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และจีน โดยมีการเล่นกอล์ฟมาแล้วอย่างน้อยห้าศตวรรษในหมู่เกาะบริเตน กอล์ฟในรูปแบบปัจจุบันได้มีการเล่นในสกอตแลนด์ตั้งแต่พ.ศ. 2215

 

ประวัติ

มีการกล่าวถึงกีฬากอล์ฟในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1840 เป็นครั้งแรกในเนเธอร์แลนด์ในเมืองที่ชื่อว่า Loenen aan de Vech โดยชาวดัตช์เล่นเกมด้วยไม้และลูกบอลหนัง โดยผู้ที่ตีลูกบอลลงในเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยเมตรด้วยจำนวนครั้งการตีน้อยที่สุด เป็นผู้ชนะ

 

ชาวสกอตแลนด์ถือว่ากีฬากอล์ฟเป็นการคิดค้นของสกอตแลนด์ โดยเชื่อว่ามีการกล่าวถึงในกฎหมายสองฉบับในพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีการห้ามเล่นกีฬาที่เรียกว่า “gowf” อย่างไรก็ตาม นักวิชาการเชื่อว่าเป็นการกล่าวถึงกีฬาซึ่งมีลักษณะเป็นกีฬาประเภททีมบนสนาม ใกล้เคียงกับฮอกกี้มากกว่า โดยกล่าวว่ากีฬาที่ใช้ไม้กอล์ฟตีลูกบอลให้ลงหลุมนั้นมีการเล่นในพุทธศตวรรษที่ 22 ในเนเธอร์แลนด์มากกว่าสกอตแลนด์

 

สนามกอล์ฟเก่าของเซนต์แอนดรูว์ส ในปีพ.ศ. 2434

สนามกอล์ฟที่เก่าที่สุดที่มีการเล่นอย่างต่อเนื่องคือสนามกอล์ฟใน Musselburgh ในสกอตแลนด์ โดยมีหลักฐานว่ามีการเล่นกีฬากอล์ฟที่สนามแห่งนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2215 แม้ว่าจะมีการกล่าวกันว่าสมเด็จพระราชินีแมรีแห่งสกอตแลนด์ทรงเล่นกอล์ฟที่สนามแห่งนี้ในปีพ.ศ. 2110

 

ในอดีต สนามกอล์ฟไม่ได้มีสิบแปดหลุมเสมอไป สนามกอล์ฟเซนต์แอนดรูว์ส ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่แคบๆตามแนวชายฝั่งทะเล ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 นักกอล์ฟที่เซนต์แอนดรูว์สได้เล่นกอล์ฟบนพื้นที่มีสภาพเป็นลูกคลื่น และมีหลุมซึ่งที่ตั้งถูกบีบบังคับโดยสภาพพื้นที่ สนามกอล์ฟที่เกิดขึ้นนี้มีสิบเอ็ดหลุม โดยเริ่มจากคลับเฮาส์ไปจนสุดอีกฝั่งหนึ่งของพื้นที่ เมื่อเล่นออกไปจนสุดแล้ว นักกอล์ฟก็จะหันกลับและเล่นกลับเข้ามา รวมเป็นทั้งหมดยี่สิบสองหลุม ในปีพ.ศ. 2307 คนเริ่มรู้สึกว่าหลุมหลายหลุมมีระยะสั้นไป จึงนำหลุมบางหลุมมารวมกัน ลดจากสิบเอ็ดเหลือเพียงเก้าหลุม และรวมกันแล้วเป็นสิบแปดหลุม

 

ภาพที่เชื่อว่า เป็นการเล่นกอล์ฟของจักรพรรดิจีน

ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 24 ได้มีการพัฒนาในเรื่องของอุปกรณ์อย่างมาก โดยมีอุปกรณ์ตัดหญ้าที่ดีขึ้น ลูกกอล์ฟที่ดีขึ้น และการใช้ก้านโลหะในไม้กอล์ฟ ซึ่งเริ่มในช่วงพุทธทศวรรษ 2470 เช่นเดียวกับการใช้ทีซึ่งทำด้วยไม้ ในพุทธทศวรรษ 2510 เริ่มใช้โลหะแทนหัวไม้ และในทศวรรษ 2520 เริ่มมีการใช้ก้านกราไฟต์แทนโลหะ

 

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 มีหลักฐานใหม่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของกอล์ฟ ค้นพบโดยศาสตราจารย์ Ling Hongling จากมหาวิทยาลัยหลานโจ่ว ซึ่งชวนให้เชื่อได้ว่า มีกีฬาซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับกอล์ฟในปัจจุบันในประเทศจีน ตั้งแต่ห้าร้อยปีก่อนการกล่าวถึงกอล์ฟในสกอตแลนด์ บันทึกจากสมัยราชวงศ์ซ่ง มีการกล่าวถึงเกมฉุยหวาน (จีน) และมีภาพวาดด้วย เกมนี้มีการใช้ไม้สิบชนิด ซึ่งรวมถึงไม้ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับไดรเวอร์ หัวไม้สอง และหัวไม้สามด้วย ไม้ต่างๆมีการประดับด้วยหยกและทอง ทำให้เชื่อว่าเป็นกีฬาสำหรับผู้มีฐานะร่ำรวย ศาสตราจารย์หลิงเชื่อว่ากีฬากอล์ฟถูกนำเข้าสู่ยุโรปและต่อมาสกอตแลนด์โดยนักเดินทางชาวมองโกลในช่วงปลายยุคกลาง

 

โฆษกของรอยัลแอนด์เอนเชียนกอล์ฟคลับออฟเซนต์แอนดรูว์ส หนึ่งในองค์กรกอล์ฟที่เก่าแก่ของสกอตแลนด์ กล่าวว่า “กีฬาที่ใช้ไม้และลูกบอลนั้นมีการเล่นมาหลายศตวรรษ แต่กอล์ฟที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ เล่นกันสิบแปดหลุม มาจากสกอตแลนด์อย่างแน่นอน”

 

ในประเทศไทย สนามกอล์ฟแห่งแรกได้ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

สนามกอล์ฟ

ผู้เล่นตีลูกจาก “แท่นตั้งที”

กีฬากอล์ฟเล่นในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “สนามกอล์ฟ” (อังกฤษ: golf course) สนามกอล์ฟประกอบไปด้วยหลุมหลายหลุม โดยในทางกอล์ฟ “หลุม” หมายถึงทั้งหลุมที่เจาะลงไปในพื้นดิน และอาณาเขตตั้งแต่แท่นตั้งทีไปจนถึงกรีน สนามกอล์ฟส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยหลุมสิบแปดหลุม

 

แท่นทีออฟ

การตีครั้งแรกในแต่ละหลุม เริ่มจากเขตที่เรียกว่า “แท่นตั้งที” (teeing ground) ผู้เล่นสามารถใช้แท่งหมุดขนาดเล็ก ซึ่งเรียกว่า “ทีตั้งลูก” (tee) ทำจากไม้หรือพลาสติก ช่วยให้การตี“ทีช็อต”ง่ายขึ้น ก่อนที่จะมีทีสมัยใหม่นั้น นักกอล์ฟมักจะก่อกองทรายเล็กเป็นทรงพีรามิดในการตั้งลูกกอล์ฟ สนามกอล์ฟส่วนใหญ่จะมีแท่นตั้งทีหลายระยะให้เลือก ซึ่งทำให้หลุมนั้นยาวขึ้นหรือสั้นลงได้ตามแต่จะเลือก บริเวณแท่นตั้งทีนั้น มักจะมีพื้นผิวราบ

 

แฟร์เวย์และรัฟ

หลังจากตีลูกออกจากแท่นตั้งที ผู้เล่นจะตีลูกกอล์ฟ (โดยมากไปยังกรีน) จากจุดที่ลูกมาหยุดอยู่ ซึ่งอาจจะเป็น “แฟร์เวย์” (fairway) หรือว่า “รัฟ” (rough) บนแฟร์เวย์นั้น หญ้าจะถูกตัดสั้นและเรียบ ทำให้การตีลูกนั้นง่ายกว่าการตีจากรัฟ ซึ่งมักจะไว้หญ้ายาวกว่า

 

อุปสรรค

ในสนามกอล์ฟ หลุมหลายหลุมอาจมีเขต “อุปสรรค” (hazard) ซึ่งแบ่งออกสองชนิดคือ “เขตอุปสรรคน้ำ” (water hazard) และ “บังเกอร์” (bunker) (บางครั้งเรียกว่า “หลุมทราย” หรือ “อุปสรรคทราย”) ในเขตอุปสรรค จะมีกฎบังคับการเพิ่มเติม ซึ่งทำให้การเล่นลำบากมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในเขตอุปสรรค ผู้เล่นไม่สามารถใช้ไม้กอล์ฟสัมผัสพื้นก่อนการเล่นลูกได้ ลูกที่อยู่ในเขตอุปสรรคสามารถเล่นจากจุดที่ลูกหยุดอยู่ได้โดยไม่ถูกปรับแต้ม หากไม่สามารถเล่นจากตำแหน่งนั้นได้ (โดยเฉพาะในอุปสรรคน้ำ) ผู้เล่นอาจจะเลือกเล่นจากจุดอื่น โดยทั่วไปจะปรับโทษหนึ่งสโตรค (แต้ม) ซึ่งตำแหน่งการเล่นนอกเขตนั้น ถูกบังคับอย่างเข้มงวดโดยกฎกอล์ฟ บังเกอร์เป็นเขตอุปสรรคเพราะการเล่นลูกนั้นทำได้ยากกว่าการตีจากหญ้า

 

กรีน

ตัวอย่างผังของหลุมในสนามกอล์ฟ

เมื่อลูกกอล์ฟอยู่บน “กรีน” (putting green) แล้ว ผู้เล่นจะพัตลูกไปยังหลุมจนกว่าจะลง“หลุม” (hole หรือ cup) การ “พัต” (putt) คือการตีลูกครั้งหนึ่ง มักจะทำบนกรีน (แต่ไม่เสมอไป) โดยใช้ไม้กอล์ฟซึ่งมีหน้าแบนเรียบ ทำให้ลูกกลิ้งไปบนพื้นโดยไม่ลอยจะพื้นดิน หญ้าบนกรีนนั้นจะตัดสั้นมาก ทำให้ลูกกลิ้งไปได้อย่างง่ายดาย ทิศทางของใบหญ้าและความลาดเอียงของพื้นจะส่งผลต่อทิศทางการกลิ้งของลูก หลุมกอล์ฟจะอยู่บนกรีนเสมอ มีขนาด 108 มิลลิเมตร และลึกอย่างน้อย 100 มิลลิเมตร ตำแหน่งของหลุมบนกรีนอาจเปลี่ยนไปได้ในแต่ละวัน โดยทั่วไปมักจะมีธงปักในหลุมกอล์ฟเพื่อให้เห็นหลุมได้จากระยะไกล แม้ว่าอาจจะไม่ใช่จากแท่นตั้งทีก็ตาม

 

โอบี

โอบี คือเขตที่อยู่นอกเขตสนามที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เล่นไม่สามารถตีลูกได้ หากลูกของผู้เล่นตกไปยังเขตโอบี ผู้เล่นจะต้องเล่นลูกจากจุดเดิมที่ตีมา และปรับแต้มเพิ่มหนึ่งสโตรค

 

เขตอื่น

บางส่วนในเขตสนาม อาจจะมี “เขตพื้นที่ซ่อม” (ground under repair หรือ G.U.R.) ซึ่งหากลูกกอล์ฟของผู้เล่นเข้าไปตกในเขตนี้แล้ว ผู้เล่นสามารถหยิบออกมาเล่นนอกเขตได้โดยไม่ถูกปรับแต้ม นอกจากนี้ ยังอาจมี “สิ่งกีดขวาง” (obstruction) ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่นหมุดบอกระยะทาง รั้ว เป็นต้น และมีกฎข้อบังคับเฉพาะซึ่งกำหนดวิธีเล่นหากลูกของผู้เล่นได้รับผลกระทบจากสิ่งกีดขวาง

 

พาร์

แต่ละหลุมในสนามกอล์ฟจะมีการกำหนด “พาร์” (par) ซึ่งเป็นจำนวนครั้งการตีที่ผู้เล่นควรจะตีจบหลุม เช่น ในหลุมพาร์สี่ ผู้เล่นควรจะตีครั้งแรกจากแท่นตั้งที ครั้งที่สองไปยังกรีน และพัตอีกสองครั้ง หลุมกอล์ฟโดยทั่วไปมักจะมีพาร์สาม สี่ และห้า ปัจจุบันมีหลุมพาร์หกอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ไม่มีในสนามกอล์ฟแบบดั้งเดิม

สนามกอล์ฟสิบแปดหลุมส่วนใหญ่ มักจะมีหลุมพาร์สามและพาร์ห้าอย่างละสี่หลุม และหลุมพาร์สี่อีกสิบหลุม รวมทั้งสิบแปดหลุมเป็นพาร์ 72 แม้ว่าจะมีการผสมแบบอื่น การแข่งขันหลายรายการที่เล่นบนสนามพาร์ 71 หรือ 70

 

 

อุปกรณ์กอล์ฟ

ไม้กอล์ฟ

องศาหน้าไม้ (loft) ของไม้กอล์ฟ

โดยทั่วไปแล้ว นักกอล์ฟจะมีไม้หลายอันในถุงขณะที่เล่น โดยกฎระบุว่าสามารถมีไม้ได้ไม่เกิน 14 อัน ไม้กอล์ฟแต่ละชิ้นจะมีความแตกต่างกันในเรื่องขององศาหน้าไม้ ซึ่งส่งผลต่อเส้นโคจรของลูกกอล์ฟ องศาหน้าไม้ของไม้กอล์ฟนั้น วัดจากแนวตั้งฉาก

 

หัวไม้ พัตเตอร์ และหัวเหล็ก

หัวไม้

“หัวไม้” (wood) เป็นไม้ที่ยาวที่สุดและมักจะใช้กับช็อตที่ต้องการระยะไกล หัวของหัวไม้นั้นมีขนาดใหญ่ โดยดั้งเดิม หัวของหัวไม้ทำมาจากไม้พลับหรือเมเปิล ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ หัวไม้สมัยใหม่มีลักษณะกลวง ทำจากเหล็ก ไทแทเนียม หรือวัสถุผสม

หัวไม้ที่ยาวที่สุด เรียกว่าหัวไม้หนึ่ง หรือ “ไดรเวอร์” โดยหัวไม้นี้จะมีหัวขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งเหมาะสำหรับการตีจากที หัวไม้อื่นที่สั้นกว่า เช่นหัวไม้สาม หรือหัวไม้ห้า มักเรียกเป็นหัวไม้แฟร์เวย์ โดยหัวไม้เหล่านี้จะสั้นกว่า และมีองศาหน้าไม้มากกว่า ทำให้สามารถตีจากพื้นหญ้าได้ ไดรเวอร์สามารถใช้ตีจากพื้นหญ้าได้เช่นกัน แต่ต้องใช้ความสามารถที่สูงกว่าในการควบคุม

ในปัจจุบัน มีหัวไม้แบบใหม่ที่รู้จักกันในชื่อไฮบริด (hybrid) หรือที่บางครั้งคนไทยเรียกว่าไม้กระเทย ซึ่งรวมคุณสมบัติการตีตรงๆแบบเหล็กรวมกับจุดศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงที่ต่ำแบบหัวไม้ที่มีองศาหน้าไม้สูง โดยไม้ไฮบริดนี้มักจะใช้ในการเล่นช็อตระยะไกลจากรัฟ หรือผู้เล่นที่มีปัญหาในการตีเหล็กยาว

 

หัวเหล็ก

ไม้หัวเหล็ก (iron) หรือที่มักเรียกสั้นๆว่า “เหล็ก” ใช้ในการตีระยะสั้นกว่าหัวไม้ โดยทั่วไปจะเป็นช็อตที่ตีขึ้นกรีน เหล็กเป็นไม้กอล์ฟที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยนักกอล์ฟที่มีความสามารถสูงสามารถตีช็อตได้หลายแบบโดยไม้อันเดียว เหล็กมักจะมีเลขตั้งแต่ 1 ถึง 9 โดยยิ่งเลขต่ำ องศาหน้าไม้ก็จะต่ำ และก้านจะยาว เหล็กที่สั้นที่สุดเรียกว่าเวดจ์ ชุดเหล็กทั่วไปมักประกอบไปด้วยเหล็กตั้งแต่เบอร์ 3 ถึงพิชชิงเวดจ์ ผู้เล่นที่มีความสามารถบางคนอาจใช้เหล็ก 2 แต่เหล็ก 1 ในปัจจุบันมีใช้กันน้อยมาก แม้แต่กับนักกอล์ฟอาชีพ ความนิยมใช้เหล็กยาว (เบอร์ต่ำ) ที่ลดลง มีผลมาจากการพัฒนาไม้ไฮบริด ซึ่งให้เส้นโคจรที่ดี และตีง่ายกว่า

เวดจ์

“เวดจ์” (wedge) คือเหล็กที่มีองศาหน้าไม้มากกว่า 44 องศา “พิชชิงเวดจ์” (pitching wedge) มีองศาหน้าไม้ 44 ถึง 50 องศา และมีการออกแบบที่ใกล้เคียงกับเหล็กทั่วไป “แซนด์เวดจ์” (sand wedge) มีการออกแบบเป็นพิเศษซึ่งสิ่งที่เรียกว่า “เบานซ์” (bounce) และมีองศาหน้าไม้ 54 ถึง 58 องศา ทำให้ผู้เล่นสามารถตีจากทรายหรือรัฟได้ง่าย “แกปเวดจ์” (gap wedge) มีองศาหน้าไม้อยู่ระหว่างพิชชิงเวดจ์และแซนด์เวดจ์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ (gap มีความหมายว่าช่องว่างระหว่างกลาง) “ลอบเวดจ์” (lob wedge) คือเวดจ์ที่มีองศาหน้าไม้สูงมาก (อาจถึง 68 องศา) ใช้ในการตีขึ้นกรีน จากทราย หรือใช้ในช็อตแก้ไขที่ต้องใช้ช็อตลูกโด่งมากและระยะทางสั้น ผู้ผลิตไม้กอล์ฟส่วนใหญ่ ผลิตเวดจ์ตั้งแต่ 48 ถึง 60 องศา และมีเบานซ์หลายแบบ

 

พัตเตอร์

“พัตเตอร์” (putter) มีหัวหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่สำคัญคือจะมีองศาหน้าไม้ที่ต่ำมาก และก้านที่สั้น ออกแบบมาเพื่อผลักลูกกอล์ฟให้กลิ้งบนพื้นมากกว่าที่จะลอยสู่อากาศ โดยทั่วไปพัตเตอร์จะใช้บนกรีน แต่บางครั้งอาจใช้ในการตีขึ้นกรีนจากแฟร์เวย์หรือฟรินจ์ (พื้นที่รอบกรีน) ที่ตัดหญ้าสั้นและเรียบ

 

ลูกกอล์ฟ

จากภาคผนวกในกฎกีฬากอล์ฟ ลูกกอล์ฟ ต้องมีลักษณะเป็นทรงกลมสมมาตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 42.67 มิลลิเมตร และมีมวลไม่เกิน 45.93 กรัม พื้นผิวของลูกกอล์ฟในปัจจุบันมีรอยบุ๋มประมาณ 300 ถึง 500 รอย โดยวิธีการและวัสดุที่ใช้ในการผลิตลูกกอล์ฟนั้น ส่งผลต่อคุณสมบัติต่างๆในการเล่น เช่น ระยะทาง เส้นโคจร การหมุนของลูก และความรู้สึก วัสดุที่มีความแข็ง เช่น เซอร์ลีน มักจะส่งผลให้ลูกกอล์ฟเคลื่อนที่ไกลขึ้น ในขณะที่วัสดุที่นุ่มกว่าอย่างยางบาลาตา มักจะให้การหมุนของลูก (สปิน) และความรู้สึกที่ดีกว่า ลูกกอล์ฟที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ จะต้องผ่านการออกแบบให้เป็นทรงสมมาตรให้มากที่สุด ซึ่งมาจากการผลิตลูกกอล์ฟซึ่งมีรูปแบบรอบบุ๋มอสมมาตร ช่วยในการควบคุมทิศทางของลูกกอล์ฟ ในอดีตลูกกอล์ฟเคยทำจากไม้ ขนนก และยางไม้ ลูกกอล์ฟสามารถมีได้หลายสี แต่สีที่นิยมที่สุดคือสีขาว

 

การเล่น

การเล่นกอล์ฟนั้น ผู้เล่นจะเล่นบนหลุมที่กำหนด โดยทั่วไปสิบแปดหลุม แต่ละหลุมนั้นจะเริ่มจากการตีจากแท่นตั้งที เมื่อลูกกอล์ฟหยุดนิ่งที่ใด ก็ตีต่อไปจากจุดนั้น จนกระทั่งลูกกอล์ฟลงไปในหลุมซึ่งอยู่บนกรีน ผู้เล่นจะพยายามตีโดยให้ลงหลุมด้วยจำนวนครั้งที่น้อยที่สุด

โดยทั่วไปผู้เล่นจะเดินหรือนั่งรถกอล์ฟไปทั่วสนาม โดยอาจเป็นการเล่นคนเดียว สองคน ไปจนถึงสี่หรือห้าคน มักเรียกว่า “ก๊วน” บางครั้งจะมีแคดดี้เดินด้วย แคดดี้คือคนที่แบกและจัดการอุปกรณ์ และให้คำแนะนำในการเล่นแก่ผู้เล่น ผู้เล่นแต่ละคนจะตีลูกกอล์ฟคนละลูก ยกเว้นในการเล่นที่เรียกว่า “โฟร์ซัมส์” ซึ่งเป็นการเล่นแบบคู่ที่ผู้เล่นในทีมจะผลัดกันตีลูกกอล์ฟลูกเดียวกัน

ในแต่ละหลุม จะมีรูปแบบการนับคะแนนดังนี้

รูปแบบบน
ป้ายคะแนน
คำศัพท์เฉพาะ ความหมาย
-4 คอนดอร์ (หรือดับเบิลอัลบาทรอส) ต่ำกว่าพาร์สี่สโตรค
-3 อัลบาทรอส (หรือดับเบิลอีเกิล) ต่ำกว่าพาร์สามสโตรค
-2 อีเกิล (หรือดับเบิลเบอร์ดี) ต่ำกว่าพาร์สองสโตรค
-1 เบอร์ดี ต่ำกว่าพาร์หนึ่งสโตรค
+0 พาร์ สโตรคเท่ากับพาร์
+1 โบกี มากกว่าพาร์หนึ่งสโตรค
+2 ดับเบิลโบกี มากกว่าพาร์สองสโตรค
+3 ทริปเปิลโบกี มากกว่าพาร์สามสโตรค
+4 ควอดรูเพิลโบกี มากกว่าพาร์สี่สโตรค

รูปแบบการเล่นกอล์ฟพื้นฐานมีสองแบบคือ สโตรคเพลย์และแมตช์เพลย์ สโตรคเพลย์ เป็นระบบที่ใช้ในการแข่งขันส่วนใหญ่ ในระบบนี้ ผู้เล่นแต่ละคน (หรือแต่ละทีม) จะนับคะแนนการตีของทุกหลุมเมื่อรวมเป็นคะแนนสรุป และฝ่ายที่มีจำนวนครั้งน้อยที่สุดในรอบที่กำหนดเป็นผู้ชนะเป็นผู้ชนะ ในการเล่นแบบแมตช์เพลย์ ผู้เล่นสองคน (หรือสองทีม) จะแข่งกันในแต่ละหลุม ฝ่ายที่ใช้สโตรคน้อยกว่าในแต่ละหลุม จะชนะหลุมนั้น หรือถ้าใช้สโตรคเท่ากัน จะนับเป็นหลุมเสมอกัน ฝ่ายที่ชนะจำนวนหลุมมากกว่า เป็นผู้ชนะ

 

การเล่นประเภททีม

มีการเล่นประเภททีมสองแบบ ที่ได้รับการบรรจุอยู่ในกฎกีฬากอล์ฟอย่างเป็นทางการ ได้แก่การเล่นแบบโฟร์ซัม และโฟร์บอล

  • โฟร์ซัม เป็นการแข่งระหว่างสองทีมที่มีผู้เล่นฝ่ายละสองคน โดยแต่ละทีมจะใช้ลูกกอล์ฟเพียงลูกเดียว และผู้เล่นต้องสลับกันตี เช่น หากทีมประกอบด้วยผู้เล่น ก. และผู้เล่น ข. หากผู้เล่น ก. ตีช็อตแรก ผู้เล่น ข. จะตีช็อตที่สอง สลับกันไปเรื่อยๆจนจบหลุม ในหลุมถัดไป ผู้เล่น ข.จะเป็นฝ่ายเริ่มช็อตแรก โดยไม่สนใจว่าใครเป็นผู้ตีคนสุดท้ายในหลุมที่ผ่านมา เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ การเล่นแบบโฟร์ซัมสามารถเล่นได้ทั้งแบบแมตช์เพลย์และสโตรคเพลย์ นอกจากนี้ยังมีการเล่นแบบทรีซัม ซึ่งเป็นแมตช์ระหว่างผู้เล่นหนึ่งคนและผู้เล่นสองคน ทรีซัมและโฟร์ซัม มีอยู่ในกฎกอล์ฟข้อที่ 29
  • โฟร์บอล เป็นการแข่งระหว่างสองทีมที่มีผู้เล่นฝ่ายละสองคน โดยแต่ละคนตีลูกกอล์ฟคนละหนึ่งลูก โดยการนับคะแนนจะนับคะแนนที่ต่ำกว่าของแต่ละทีมในหลุมนั้นๆ โฟร์บอลสามารถเล่นได้ทั้งแบบแมตช์เพลย์และสโตรคเพลย์เช่นกัน โดยมีการกล่าวถึงในกฏกอล์ฟข้อที่ 30 และ 31

 

ระบบแฮนดิแคป

แฮนดิแคป หรือแต้มต่อ คือตัวเลขที่นักกอล์ฟสมัครเล่นใช้วัดความสามารถในการเล่นกอล์ฟในสิบแปดหลุม โดยสามารถนำไปใช้ในการคำนวณคะแนนในการแข่งขัน เพื่อให้นักกอล์ฟที่มีฝีมือต่างกันสามารถแข่งขันกันได้ มักจะจัดการโดยสมาคมกอล์ฟหรือสโมสรกอล์ฟต่างๆ ไม่มีการใช้ระบบแแฮนดิแคปในกอล์ฟอาชีพ การนับแต้มต่อ มีหลายระบบ ที่นิยมใช้กันมาก จะเป็นแบบ 36 system ที่ จะคิดคะแนนโดย ดูจากสกอร์ในแต่ละหลุม คือ ได้ ดับเบิ้ลโบกี้เท่ากับ 0 โบกี้ +1 พาร์และเบอร์ดี้ + 2 โดยนำผลรวมที่ได้มาลบ 72 แต้ม คะแนนที่ได้ จะเป็นแต้มต่อนำไปลบ สกอร์ที่ได้ในวันนั้น (ให้สังเกตว่าถ้าทำเบอร์ดี้ได้จะได้เปรียบมากเพราะสกอร์น้อยกว่า พาร์แต่หักแต้มต่อเท่ากัน) สมมุติคร่าวๆ ว่า ตีได้คะแนน โบกี้ทุกหลุมจะได้คะแนนรวม 90 แต้ม จะมีแต้มต่อเท่ากับ +1 คูณ 18 หลุม เท่ากับ 18แต้มที่ต้องปรับลด 90-18 = 72 สรุปว่าวันนั้นคุณตีได้ แสควร์พาร์

กอล์ฟอาชีพ

ไทเกอร์ วูดส์ หนึ่งในนักกอล์ฟอาชีพที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

มีการเล่นกอล์ฟเป็นอาชีพในหลายประเทศทั่วโลก นักกอล์ฟอาชีพ มักเรียกว่า “โปร” ส่วนใหญ่ทำงานด้านการสอนกอล์ฟ และลงแข่งขันในรายการท้องถิ่นเท่านั้น มีเพียงนักกอล์ฟกลุ่มเล็กๆที่ลงแข่งขันในระดับนานาชาติ

การแข่งขันทัวร์

มีการแข่งขันทัวร์กอล์ฟอาชีพอย่างน้อยยี่สิบรายการ โดยแต่ละรายการจัดโดยสมาคมกอล์ฟอาชีพหรือองค์กรจัดการอิสระ ซึ่งรับผิดชอบการจัดการแข่งขัน หาผู้สนับสนุน และควบคุมทัวร์นั้นๆ โดยทั่วไปแล้ว แต่ละทัวร์จะมีระบบสมาชิก ซึ่งสามารถลงแข่งได้ในทุกรายการ และบางครั้งก็เชิญนักกอล์ฟที่ไม่เป็นสมาชิกเข้าแข่งในบางรายการ สมาชิกภาพของทัวร์ระดับสูงนั้น ได้ยากและมีการแข่งขันสูงมาก

ทัวร์ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดได้แก่ พีจีเอทัวร์ ซึ่งการแข่งขันส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือการแข่งขัน ยูโรเปียนทัวร์ ซึ่งมีดึงดูดนักกอล์ฟจากนอกทวีปอเมริกาเหนือจำนวนมาก นักกอล์ฟหลายคนลงแข่งขันรายการเพียงพอที่จะรักษะสมาชิกภาพของทั้งสองทัวร์ นอกจากนี้ยังมีทัวร์ของนักกอล์ฟชายอีกหลายรายการ เช่น เอเชียนทัวร์ แจแปนกอล์ฟทัวร์ พีจีเอทัวร์แห่งออสตราเลเชีย และซันไชน์ทัวร์ เป็นต้น

มีทัวร์กอล์ฟสำหรับนักกีฬากอล์ฟอาวุโส ซึ่งมีอายุมากกว่า 50 ปีอยู่หลายทัวร์ ที่รู้จักกันมากที่สุดคือ แชมเปียนส์ทัวร์ หรือชื่อในอดีตคือ ซีเนียร์พีจีเอทัวร์ จัดโดยองค์กรพีจีเอทัวร์ นอกจากนี้ยังมีทัวร์สำหรับนักกอล์ฟสตรีเช่นกัน รายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือแอลพีจีเอทัวร์ จัดโดยสมาคมกอล์ฟอาชีพสตรี (ของสหรัฐอเมริกา) หรือแอลพีจีเอ

การแข่งขันกอล์ฟเมเจอร์ชาย

การแข่งขันกอล์ฟรายการเมเจอร์ เป็นการแข่งขันสี่รายการซึ่งได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด ในปัจจุบันได้แก่รายการ เดอะมาสเตอร์ส ยูเอสโอเพน ดิโอเพนแชมเปียนชิป (มักเรียกนอกสหราชอาณาจักรว่าบริติชโอเพน) และพีจีเอแชมเปียนชิป การแข่งขันรายการเดอะมาสเตอร์สจัดที่สนามกอล์ฟออกัสตาเนชันแนล เมืองออกัสตา มลรัฐจอร์เจีย โดยเป็นรายการเมเจอร์เดียวที่แข่งขันที่สนามเดียวทุกปี ยูเอสโอเพนและพีจีเอแชมเปียนชิป จัดในสหรัฐอเมริกา และดิโอเพนแชมเปียนชิปจัดในสหราชอาณาจักร โดยสามรายการนี้ไม่มีสนามกอล์ฟที่แน่นอน

การแข่งขันกอล์ฟเมเจอร์หญิง

การแข่งขันกอล์ฟหญิงนั้น ไม่มีกลุ่มรายการเมเจอร์ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกแบบกอล์ฟชาย รายการเมเจอร์ของแอลพีจีเอทัวร์ในสหรัฐ ซึ่งเป็นทัวร์หญิงที่โดดเด่นที่สุด ได้มีความเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดในปีพ.ศ. 2544 ปัจจุบันแอลพีจีเอ (สหรัฐฯ) มีรายการเมเจอร์สี่รายการได้แก่ คราฟต์นาบิสโกแชมเปียนชิป ยูเอสโอเพนหญิง แอลพีจีเอแชมเปียนชิป และบริติชโอเพนหญิง โดยมีเพียงรายการสุดท้ายเท่านั้น ที่ได้รับการยอมรับโดยเลดีส์ยูโรเปียนทัวร์ ร่วมกับเอเวียงมาสเตอร์ส ซึ่งแอลพีจีเอถือว่าเป็นรายการปกติ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้ส่งผลมากนัก เพราะแอลพีจีเอมีอิทธิพลสูงมากในวงการกอล์ฟสตรี เลดีส์ยูโรเปียนทัวร์ยอมรับเรื่องนี้ โดยการหลีกเลี่ยงการจัดการแข่งขันที่ซ้อนทับกับรายการสามรายการเมเจอร์ในสหรัฐ

ทัวร์ของสมาคมกอล์ฟอาชีพสตรีแห่งญี่ปุ่น ไม่ได้ยอมรับรายการเมเจอร์ใดของแอลพีจีเอสหรัฐหรือเลดีส์ยูโรเปียนทัวร์ แต่มีสามรายการเมเจอร์ของตัวเอง อย่างไรก็ตาม รายการเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจมากนักนอกประเทศญี่ปุ่น

การแข่งขันกอล์ฟเมเจอร์อาวุโส

ทัวร์กอล์ฟอาวุโสไม่มีรายการเมเจอร์ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เช่นเดียวกับในกอล์ฟหญิง ปัจจุบันมีการแข่งขันห้ารายการ ที่ได้รับสถานะเมเจอร์ในแชมเปียนทัวร์ของสหรัฐอเมริกา โดยในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง แต่ว่าทุกครั้งจะเป็นการเพิ่มรายการใหม่ นั่นหมายความว่ายังไม่มีรายการได้ที่สูญเสียสถานะเมเจอร์ ห้ารายการในปัจจุบันได้แก่ ซีเนียร์พีจีเอแชมเปียนชิป ยูเอสซีเนียร์โอเพน ซีเนียร์บริติชโอเพนแชมเปียนชิป เดอะเทรดิชัน และซีเนียร์เพลเออร์สแชมเปียนชิป จากห้ารายการนี้ ซีเนียร์พีจีเอ เป็นรายการที่เก่าแก่ที่สุด โดยก่อตั้งตั้งแต่ปีพ.ศ. 2480 รายการที่เหลือนั้น เพิ่งเริ่มเมื่อพุทธทศวรรษ 2520 เมื่อทัวร์กอล์ฟอาวุโสเริ่มประสบความสำเร็จทางการค้า แชมเปียนทัวร์ไม่ยอมรับสถานะเมเจอร์ของซีเนียร์บริติชโอเพนจนกระทั่งปีพ.ศ. 2546

ยูโรเปียนซีเนียร์สทัวร์ยอมรับสถานะเมเจอร์เพียงรายการซีเนียร์พีจีเอ และรายการโอเพนทั้งสองรายการ อย่างไรก็ตาม แชมเปียนทัวร์มีอิทธิพลในวงการกอล์ฟอาวุโสมากกว่าอย่างชัดเจน

 

ขอบคุณเป็นพิเศษบทความจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Comments

comments